SkyscraperCity Forum banner

Chiang Mai | HSR Transit Oriented Development

8K views 22 replies 8 participants last post by  napoleon 
#1 · (Edited)
See less See more
1
#3 ·
เปิดพื้นที่ 130ไร่ ผุดฮับ..สถานีรถไฟเร็วสูงเชียงใหม่

updated: 21 ก.ย. 2558 เวลา 21:30:11 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ร.ฟ.ท.เดินหน้าพัฒนาที่ดิน 130 ไร่รอบสถานีรถไฟเชียงใหม่ วาดแผนลงทุนในเชิงพาณิชย์รองรับโครงการรถไฟความเร็วสูง เปิดรับภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุน เตรียมนำร่องคอมมิวนิตี้มอลล์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ภายใน 3 ปี เผยใช้แนวคิด TOD สถานีกลางบางซื่อเป็นต้นแบบ ด้านเอกชนเสนอเปิดพื้นที่สถานีรถไฟเชียงใหม่แห่งใหม่ไปกิ่งอำเภอแม่ออน

นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ หัวหน้าหน่วยธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2562 สถานีกลางบางซื่อจะก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อที่มีพื้นที่ราว 2,300 ไร่ ภายใต้แนวคิด Transit Oriented Development (TOD) ซึ่ง ร.ฟ.ท.เล็งเห็นว่าจะนำแนวคิดการพัฒนา TOD มาพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ทั่วประเทศราว 234,976 ไร่ ที่สามารถพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาโครงการ

ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่ดินที่มีศักยภาพจำนวน 25 แปลง ซึ่งย่านสถานีเชียงใหม่เป็น 1 ใน 13 แปลงที่มีศักยภาพสูงมาก เนื่องจากเป็นสถานีปลายทางของเมืองใหญ่ที่สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ตามแนวคิด TOD เพื่อให้มีการพัฒนาเมืองควบคู่กับการส่งเสริมการท่องเที่ยว

นางสิริมา หิรัญเจริญเวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ การรถไฟแห่งประเทศไทยกล่าวว่า แผนแม่บท (Master Plan) ย่านสถานีเชียงใหม่ เป็นแผนเดิมที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2552 และจะต้องมีการปรับปรุงใหม่ในหลายส่วนเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.เตรียมเดินหน้าพัฒนาที่ดินบริเวณรอบสถานีรถไฟเชียงใหม่จำนวน 130 ไร่อย่างจริงจัง โดยจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในรูปแบบ PPP-Public Private Partnership ซึ่งเป็นการรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างในราวปี 2561

สำหรับการพัฒนาพื้นที่และการใช้ที่ดินได้แบ่งออกเป็นหลายโซน อาทิ สวนสาธารณะบนที่ดินการรถไฟฯ (พัฒนาแล้ว) โครงการก่อสร้างเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โครงการก่อสร้างคอมมิวนิตี้มอลล์ โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานให้เช่า โครงการก่อสร้าง Retail Shops และโครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัยพนักงานการรถไฟฯ เป็นต้น ซึ่งโครงการที่มีความเป็นไปได้และจะเริ่มลงทุนก่อนภายใน 3 ปีก็คือ การลงทุนโครงการคอมมิวนิตี้มอลล์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์

ด้านรองศาสตราจารย์มานพ พงศทัต ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง และที่ปรึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเดินรถไฟกล่าวว่า พื้นที่โดยรอบสถานีเชียงใหม่ที่มีอยู่ราว 130 ไร่ แม้จะเล็กกว่าที่สถานีบางซื่อ แต่สามารถพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ด้วย เพราะเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง และเป็นสถานีปลายทางของรถไฟความเร็วสูง โดยต้องยึดการเดินทางด้วยระบบรางเป็นตัวตั้ง หรือเป็นศูนย์กลางจากสถานีเชียงใหม่ที่เชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่เมืองด้วยระบบราง เช่น BRT เพื่อลดความแออัดของการจราจร และในอนาคตควรมองถึงการเปิดพื้นที่การพัฒนาระบบรางจากสถานีเชียงใหม่สู่จังหวัดเชียงราย เพื่อเปิดเส้นทางระบบรางเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนตอนใต้ ซึ่งจะทำให้จังหวัดเชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลาง (HUB) การเดินทางด้วยระบบรางของภาคเหนือในอนาคต

นายนนท์ หิรัญเชรษฐ์ เลขาธิการสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูนกล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะทำให้จังหวัดเชียงใหม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีขึ้นหลายด้าน โดยทางสมาคมมีข้อเสนอการรถไฟแห่งประเทศไทยว่า ควรมีการวางแผนเปิดพื้นที่ใหม่ในการก่อสร้างสถานีเชียงใหม่แห่งใหม่ เพื่อรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากพื้นที่สถานีเชียงใหม่เดิมค่อนข้างคับแคบ ซึ่งพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพ คือ กิ่งอำเภอแม่ออน คาดว่าต้องใช้ที่ดินราว 200-300 ไร่ ถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ขณะที่พื้นที่สถานีเชียงใหม่เดิมจะกลายเป็นสถานีเชื่อมต่อขนถ่ายคนจากสถานีใหม่เข้าสู่เมือง และการพัฒนาที่ดิน 130 ไร่โดยรอบสถานีเชียงใหม่ ก็มีความเป็นไปได้สูงมากในการลงทุน เพราะอยู่ย่านกลางเมือง

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1442814361


 
#5 ·
ถ้าไม่เอาย่านสถานีเชียงใหม่ที่ วัดเกตุ และ ค่ายกาวิละ + ที่ ตรงที่เคยเป็นโรงแรมรถไฟเชียงใหม่แล้ว เอ็งจะให้ไปอยู่ไหนหละครับ?
 
#6 ·
เอาไปไว้ตรงที่ตั้งของสถานีสันกำแพง ของทางรถไฟสาย เชียงใหม่-เชียงราย แล้วสถานีเดิมก็ทำเป็นศูนย์ซ่อมอะไรก็ว่าไป
 
#8 ·
ย่านสถานีเชียงใหม่ ที่ วัดเกตุ ข้างๆค่ายกาวิละ ใหญ่กว่าย่านสถานีกรุงเทพที่หัวลำโพง (120 ไร่) นิดหน่อยเอง
 
#9 ·
การเข้าถึงในอนาคตยากนะครับ ถนนแคบขยายไม่ได้เลยแถวสถานีรถไฟตอนนี้ นี้ขนาดว่ารถไฟยังไม่กลับมาบูมแบบในอดีตทุกวันนี้ยังติดกระจายเลยครับ จะทำทางยกระดับเข้ามาก็ยังไม่มีให้แม้แต่พื้นที่ตอกเสาเข็มเลยครับ แคบทั้งถนนแคบทั้งทางเท้าจริงย่านนั้น ถ้าจะให้สารภีเป็นสถานีหลักก็จะมีข้อเสียอีกคือมาทางเข้าออกไม่เยอะ ต้องเวนคืนพื้นที่ด้านหลังอีกนิดหน่อยเพื่อได้พื้นที่ติดกับถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ แล้วทำอาคารสถานีใหม่ตรงพื้นที่นั้นได้ครับ ละก็จะมีทางเข้าออกเล็กๆฝั่งสถานีเก่าอีกทางถนนต้นยางก็แคบขยายไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน แต่มีทางเข้าออกตรงซูปเปอร์ไฮเวย์แล้วทำสะพานยกระดับจัดขาเข้าขาออกดีๆมีอาคารจอดรถให้ แต่ข้อเสียคือมันห่างตัวเมืองพอสมควรผิดคอนเสปรถไฟที่ควรจะเข้าถึงกลางเมืองเลย
 
#10 · (Edited)
ไม่ใช่คนพื้นที่ จะพูดยังไงก็ได้สิ

อ่านข่าวบอก โอโห ตั้ง 130 ไร่ ฟังดู กว้างจัง
แต่ในข่าว สมาคมอสังหาฯเค้ายังบอกว่ามันคับแคบ
ผมเป็นคนพื้นที่ ผมก็ยังรู้สึกและว่ามันคับแคบ
คนชม.จำนวนมาก ก็รู้สึกว่ามันคับแคบ

ที่ตั้ง 130 ไร่ แต่ทำไมคนท้องถิ่นถึงบอกว่าคับแคบ คนที่อื่นไม่เข้าใจหรอก
 
#11 ·
เอ่อ เอาสถานีรถไฟไปไว้ไกลๆ เมือง แล้วใครจะไปใช้บริการครับ?

ตอน HST ออกแผนมาว่าจะย้ายสถานีพิษณุโลกไปบึงพระ ย้ายสถานีบางซื่อไปเชียงรากน้อย ฯลฯ ก็ด่ากันขรม
 
#12 ·
ีอีกทางเลือกที่น่าจะทำได้ ก็น่าจะเบี่ยงแนวจากทางรถไฟเดิมแล้วยกระดับไปบนทางหลวงสาย 11 สร้างสถานียกระดับคร่อมถนน บริเวณใกล้ๆ สถานีขนส่งอาเขตไปเลย จากตรงนั้นก็สามารถต่อทางขึ้นเหนือไปทางแม่โจ้ ออกไปฝาง แม่ฮ่องสอน หรือวกไปเชียงรายก็ได้
 
#13 ·
130 ไร่ นี่ขนาดเท่าสวนเบญจกิติเลยนะ เคยไปวิ่งนี่เหนื่อยมาก :nuts::nuts:

อีกอย่าง ในปัจจุบันมีรถไฟรับส่งผู้โดยสารไป-กลับ เชียงใหม่ ทั้งหมด 12 ขบวน

ขนาดพื้นที่เกินความจำเป็นด้วยซ้ำ ถ้าไม่พอก็เพราะการบริหารจัดการไม่ดีมากกว่า
 
#15 ·
1. ถนนเจริญเมือง เป็นถนนหลักของสถานีรถไฟเชียงใหม่ มีแค่ 4 เลน บางทีมีรถจอดริมทาง โดนบีบเหลือ 2-3 เลน ขยายถนนก็ไม่ได้
2. ถนนเลียบทางรถไฟ มันออกวงแหวนรอบ 1 ไม่ได้ ไม่มีทางออก ใกล้สุดต้องวิ่งไปออกวงแหวนรอบ 2 นู่น แถมถ้าใครวิ่งขาออกมาจะเข้าเส้นนี้ ต้องไปยูเทิร์นข้ามทางรถไฟอีก ยุ่งยากมาก
3. ที่ดินด้านทิศตะวันออกของสถานี ไม่สามารถออกถนนใหญ่ได้ (ที่จริงมีทางออกได้ แต่แคบจนรถแทบสวนกันไม่ได้)
4. จากเหตุผลที่กล่าวมาทำให้การจะไปพัฒนาที่ดินด้านทิศตะวันออกของสถานี แลดูจะไม่เกิด เพราะเข้าถึงลำบาก

ไอ่ตำแหน่งสถานี(สันกำแพง)ที่ผมว่า มันสะดวกกับคนส่วนใหญ่มากกว่านะ อย่างบ้านผมอยู่ใกล้กับสถานีเชียงใหม่มากกว่า แต่ถ้าเทียบกันแล้ว ผมไปสันกำแพงได้เร็วกว่าไปสถานีเชียงใหม่อีก (ไหนจะมีโครงการทางพิเศษที่ตัดผ่านสันกำแพงของกพท.อีก)

อันนี้พูดถึงรถไฟความเร็วสูงนะ แต่ถ้าจะไฟมิเตอร์เกจ จะเอาไว้สถานีเก่าผมก็โอเค ไม่มีปัญหา ที่ผมแคร์มากคือการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี ด้วยสถานีเก่า มันติดข้อจำกัดอย่างว่า อย่างเนี้ย สวนสาธณะหน้าสถานีรถไฟ โครตใหญ่ โครตอลังการ แต่ก็โครตร้าง เพราะมันเข้าถึงไม่สะดวก
 
#16 ·
ผมว่าไว้แยกกันมันคงดูแหม่งๆ ถ้าทำคงต้องทำรวมไปเลยจะดีกว่า

ไปกดดูแผนที่มา จริงๆผมไปเชียงใหม่บ่อย แต่ยังจำสถานที่ไม่ค่อยได้ เพราะเมืองมันกว้างมาก ที่ตรงนั้น ไม่มีถนนใหญ่ตัดผ่านเลยนิ แต่พอดูไปรอบๆก็ไม่มีตรงไหนเลยเหมือนกัน ถ้าจะเอาให้วิ่งเข้าเมืองตรงๆ คงไม่มีซักที่ที่น่าจะมีรถวิ่งเข้าไปง่ายๆนะ

แต่เอาจริงๆเชียงใหม่เองก็ไม่ได้มีตรงกลางของเมืองเป้ะ เพราะทุกอย่างมันกระจายไปหมด บ้านเราไม่มีเหมือนต่างประเทศที่เค้ามี city center แท้ๆ ถึงปุ้บ อยู่ในกลางศูนย์ธุรกิจเลย มันเลยกลายเป็นว่าเอาไปไว้ตรงไหนก็ได้ ไม่ได้ต่างกันมาก ถ้ายังอยู่ในเขตเมือง

บางทีรัฐอาจจะต้องใช้โอกาศนี้ จัดแผนผังพัฒนาเมืองรอบๆไปด้วยเลยทีเดียว เพราะไม่งั้นมันก็เหมือนกับเอาไปปล่อยตรงไหนก็ได้ ไม่ได้ต่างกันมาก
 
#19 ·
3 บิ๊กร่วมชิง 400 ล้าน จ้างศึกษาพื้นที่ TOD

3 March 2018


ช.การช่าง-ทีมกรุ๊ป-เออีซี ร่วมชิงโครงการที่สนข.จ้างศึกษาพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน TOD ค่า 400 ล้าน ระยะเวลา 18 เดือน จับตา 6 เมืองหลัก หวังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ-ดึงรายได้มาพัฒนาเมือง นำโมเดลญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผยว่า ในปี 2561 สนข.ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 400 ล้านบาท ในการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development หรือ TOD) ใช้ระยะเวลาการศึกษา 18 เดือน ในพื้นที่ 6 เมืองหลัก ได้แก่ ขอนแก่น หาดใหญ่ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา และพิษณุโลก โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาดังกล่าว


“การพัฒนา TOD นั้นจะส่งผลในการช่วยเพิ่มมูลค่าจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งยังสามารถนำรายได้มาสนับสนุนและพัฒนาระบบขนส่ง ย่านพื้นที่การขนส่ง และภายในเมืองนั้นๆ โดยในเบื้องต้นของการศึกษามองว่าอาจจะนำรูปแบบของประเทศญี่ปุ่นมาปรับใช้กับการพัฒนาของประเทศไทย ทั้งการวางผังเมือง การแก้กฎหมาย การพัฒนาระบบรางควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี และเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของวงการที่ปรึกษรายหนึ่งกล่าวว่า โครงการนี้สนข.ได้ประกาศเลื่อนการยื่นข้อเสนอมาแล้ว 1 ครั้ง คาดว่าครั้งใหม่จะประกาศในเร็วๆนี้ ในเบื้องต้นนั้นทราบว่ากลุ่มบริษัททีม คอนซัลติ้งฯได้ร่วมผนึกกับกลุ่มบริษัทเอเชี่ยนเอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด(เออีซี) เพื่อเข้าร่วมยื่นข้อเสนอในครั้งนี้ เช่นเดียวกับกลุ่มบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน)ที่ร่วมกับบริษัทพัฒนาเมืองแห่งหนึ่งแสดงความสนใจเข้าร่วมยื่นข้อเสนอในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2561

http://www.thansettakij.com/content/264046
 
#21 ·
ทุ่ม 400 ล้านจ้างศึกษาพัฒนาที่รอบสถานีระบบราง

2018-07-18

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข. อยู่ระหว่างว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development หรือ TOD) ระบบรางทั่วประเทศคาดว่าจะได้ตัวที่ปรึกษาเดือน ส.ค. นี้ ตอนนี้กำลังคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา เนื่องจากเป็นโครงการที่ใหม่และพัฒนาพื้นที่ทีโอดีระบบรางทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดมูลค่าและมีระบบยั่งยืน ในกระบวนการหาที่ปรึกษานี้จะเป็นแบบเปิดให้ทั้งบริษัทภายในและภายนอกประเทศเข้ามา จากนั้น สนข. พิจารณาตามคุณสมบัติเงื่อนไขตามทีโออาร์จัดจ้าง เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

นางวิไลรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการดังกล่าว ใช้เวลาศึกษา 18 เดือน งบศึกษา 400 ล้านบาท โดยศึกษาการพัฒนาพื้นที่ทีโอดีที่เกี่ยวกับระบบขนส่งทางรางทั้งหมดทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รถไฟชานเมือง รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) และรถไฟฟ้ารางเบาในเมืองภูมิภาคพื้นที่ 6 เมืองหลักที่มีการศึกษาระบบขนส่งสาธารณะ ได้แก่ จ.ขอนแก่น, อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา, ภูเก็ต, เชียงใหม่, นครราชสีมา และพิษณุโลก อย่างไรก็ตามการพัฒนาแผนแม่บททีโอดีนี้จะส่งผลช่วยเพิ่มมูลค่าจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม นำรายได้มาสนับสนุน พัฒนาระบบขนส่งทางราง ย่านพื้นที่การขนส่งและภายในเมืองนั้นๆ ได้

https://www.dailynews.co.th/economic/655551
 
#22 ·
ลุยรถไฟฟ้าเชียงใหม่ 3 สาย เปิดทำเลทองบูมสมาร์ทซิตี้

วันที่ 15 December 2018 - 21:09 น.


เวทีสัมมนา “เชียงใหม่ 2019 Smart Economy Smart City ก้าวใหม่สู่อนาคตที่มั่นคง” คึกคัก ปลัดคมนาคมดันระบบรางแก้วิกฤตจราจร เปิดแผนลงทุนรถไฟฟ้า 3 สาย จุดพลุทำเลทองเมืองเชียงใหม่ แนะรัฐบูมครีเอทีฟอีโคโนมี ปั้นอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มนำร่องให้ไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานสัมมนา “เชียงใหม่ 2019 Smart Economy Smart City ก้าวใหม่สู่อนาคตที่มั่นคง” ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และหนังสือพิมพ์ประชาชาชาติธุรกิจ ร่วมกันจัดขึ้น ณ ลานนา บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 มีผู้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก ส่วนใหญ่ต้องการทราบทิศทางในอนาคตของเมืองเชียงใหม่ สถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งเทคโนโลยีที่กำลังปรับเปลี่ยนโลกสู่ยุคดิจิทัล

ดันเชียงใหม่เมือง ศก.ยั่งยืน

นายมนัส ขันใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีความสมบูรณ์หลายด้าน นับเป็นจังหวัดศูนย์กลางของภาคเหนือ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ และมีศักยภาพในความเป็น “ฮับ” ด้านต่าง ๆ ทั้งการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การรรักษาพยาบาล การขนส่ง การบริการ เป็นต้น ซึ่งแนวโน้มธุรกิจเหล่านี้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น แผนการลงทุนสร้างสนามบินแห่งที่ 2 เนื่องจากสนามบินเชียงใหม่ในปัจจุบัน จำนวนผู้โดยสารถือว่าเต็มจำนวนที่รองรับได้แล้ว จากที่ประมาณการไว้ 8 ล้านคนต่อปี แต่ขณะนี้ตัวเลขผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่สูงถึง 10 ล้านคน และตามแผนแม่บทของการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ระยะที่ 2 จะรองรับผู้โดยสารได้เต็มศักยภาพ 20 ล้านคนในปี 2568 จึงจำเป็นต้องเตรียมพื้นที่สนามบินแห่งใหม่รองรับ



นอกจากนี้ ยังได้รับการผลักดันให้มีการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (light rail transit) 3 เส้นทาง เพื่อรองรับการเดินทาง และแก้ปัญหาการจราจร รวมถึงยกระดับการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่สู่เมืองอัจฉริยะ (smart city) และพัฒนาให้เป็นเมืองสุขภาพ wellness city และ medical health hub ซึ่งจะทำให้เชียงใหม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่เศรษฐกิจที่อย่างยั่งยืน (smart economy)

ชูระบบรางตอบโจทย์เดินทาง

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม บรรยายพิเศษเรื่อง Mass Transit พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาเมือง…รถไฟฟ้ามาหานะเชียงใหม่ ว่า สมัยก่อนกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษฯ คิดแต่การสร้างทาง กรมเจ้าท่าก็ทำท่าเรือ เราวางกันไว้ 4 เรื่องกรีนแอนด์เซฟ เราเอาความปลอดภัยการคมนาคมทั้งหมด ให้คนใช้รู้สึกปลอดภัย เราอยากจะปรับเป็นรถไฟฟ้า ต้องหาระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเรื่องอินคลูซีฟทรานสปอร์ต ทำยังไงให้คนทุกกลุ่มต้องสามารถเข้าถึงระบบคมนาคมได้ และเรื่องคมนาคมมีประสิทธิภาพ เมืองใดที่ไม่มีประสิทธิภาพสร้างปัญหาเยอะมาก เช่น พลังงานที่สูญเสีย มลพิษ ดังนั้น เราอยากพัฒนาระบบที่มีคุณภาพ เน้นเรื่องระบบการขนส่งสาธารณะ และเรื่องเทคโนโลยีอินโนเวชั่น ซึ่งต้องมีนวัตกรรม อยากปฏิรูปองค์กรให้มีความกระชับ

จากยุทธศาสตร์ในแผนการพัฒนาคมนาคม ไทยเปลี่ยนวิธีคิดใหม่แล้ว ต้องใช้ระบบรางแทนการร้องขอมอเตอร์เวย์ โดยจะพัฒนาระบบราง 3 ราง คือ 1.รางเดิม ซึ่งจะปฏิวัติเป็นรางคู่ เช่น เชียงใหม่จะมีรางคู่ เน้นการขนส่งสินค้า 2.รถไฟความเร็วสูง ที่เน้นขนส่งคน และ 3.รางที่เป็นพวกรถไฟฟ้าที่อยู่ในเมือง ดังนั้น ปริมาณความต้องการในการเดินทางสูงมาก โดยมีการวางแผน 8 ปี ระยะทางประมาณ 3,150 กิโลเมตร 5.5 แสนล้านบาท และทำแผนแม่บทรถไฟความเร็วสูง 2,506 กิโลเมตร 1.6 ล้านบ้านบาท เป็นโครงข่ายที่เชื่อมพัฒนาเมือง

ชูคมนาคมตัวนำพัฒนาเมือง

ปัญหาระบบคมนาคมในภูมิภาค ถูกพัฒนาในรูปแบบสังคมเมือง แต่ปัจจุบันเป็นสังคมเมืองสมัยใหม่ ดังนั้น วิธีคิดแบบเดิมตอบโจทย์ไม่ได้ ถนนที่เหมาะสมกับพื้นที่เมืองอยู่ที่ 20-25% ประเทศพัฒนาแล้วมีถนน 40 กว่า% แต่ของกรุงเทพฯมี 7% บางคนบอกว่าถึงทำให้รถติด แต่จะเอาเงินที่ไหนมาสร้าง ไม่มีทางสร้างได้ ระบบพื้นที่ทั้งหมดถูกพัฒนาหมดแล้ว แค่เวนคืนที่ดินยังทำไม่ได้เลย แค่คิดก็ไม่มีเงินแล้ว มาคิดวิธีอื่นดีกว่า มาทำระบบขนส่งสาธารณะดีกว่าไหม เราแพ้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือการเดิน จักรยาน ตอนนี้สังคมเริ่มวนกลับมาที่เดิมแล้ว เราอยากส่งเสริมการเดินการใช้จักรยาน วันนี้บ้านเมืองจะน่าอยู่ขึ้น

สำหรับเชียงใหม่ ปี 2543-2553 เชียงใหม่เหมือนถูกฉีดยากระตุ้น โตเร็วมากเชียงใหม่มีรัศมีถนนโตไป 6 แฉก เมืองพัฒนาหรือโตขึ้นไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุม เราลงทุนถนนทำให้เมืองโต มีการพัฒนา แต่เกิดการจราจร ความเร็วเฉลี่ย 5-6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าการจัดการล้มเหลวแล้ว ดังนั้นจะต้องพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะขึ้นมา ต้องมาแก้ปัญหาจราจร รวมถึงสิ่งแวดล้อม พลังงานของประเทศประมาณ 42%ถูกใช้ในภาคคมนาคม ซึ่งน่ากลัวมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราอยากให้ระบบคมนาคมเป็นตัวนำในการพัฒนาเมือง

พัฒนาโครงข่ายสายรองหนุน

สถานีรถไฟฟ้าถือเป็นเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดการเดินทาง สามารถทำกิจกรรม รถไฟฟ้าจะไม่ใช่แค่รถไฟฟ้า แต่จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมือง สำหรับเชียงใหม่มีการวางแผนการจัดทำศักยภาพในการพัฒนารอบสถานี หรือ TOD ไว้แล้ว ดังนี้ ตอนนี้เรากำลังทำแผนแม่บทระยะที่ 2 น่าจะอีก 5 ปี จะต้องคิดว่าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะรอบรัศมี 2 กม. ใน กทม.มีคนกลุ่ม A คือ MRT และ BTS และ ARL กลุ่ม B คือ BRT และกลุ่ม C คือ รถประจำทาง เช่น แท็กซี่ 2 แถว แต่เชียงใหม่มีกลุ่ม C เพราะปริมาณผู้โดยสารไม่มาก และกำลังจะทำ B แต่ไปไม่ถึง A ต้องทำโครงข่ายขนส่งสาธารณะ หากรถไฟฟ้าเสร็จ จำเป็นต้องมีระบบก้างปลา โครงข่ายรองมาสนับสนุน เชียงใหม่เราต้องศึกษาระบบรถเดิมที่มาสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะ คนต้องคิดใช้แค่ 2 อย่าง คือ ขนส่งสาธารณะและรถส่วนตัว อนาคตบัตรแมงมุงจาก กทม.จะสามารถใช้ที่เชียงใหม่ได้ด้วย

ปักหมุดสายสีแดงปี 2563

หากทำได้จะเกิดประโยชน์ รถไฟฟ้าจะกลายมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมือง กระทรวงคมนาคมได้ทำแผนแม่บทรถไฟขึ้นมาแล้ว และเสนอ ครม.แล้ว แบ่งเป็น 3 สาย สายสีแดง 12 สถานี น้ำเงิน 13 และเขียว 10 และระบบฟีดเดอระบบรอง 7 เส้นทาง เสริม 7 เส้นทาง ในส่วนสายสีแดงนั้นกำลังออกแบบ น่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2563 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า และเสร็จสิ้น

ปี 2567 ซึ่งหลายท่านอยากให้ลงดิน ทำให้มีราคาแพงกว่า 3 เท่า แต่จะมีข้อดีด้านการไม่บดบังทิวทัศน์ของเชียงใหม่ ส่วนเส้นที่ 2 สีน้ำเงิน และสายสีเขียว โดยมีวงเงินรวม 80,320 ล้านบาท ระบบฟีดเดอร์ 6,336 ล้านบาท และพื้นที่พัฒนารอบสถานี หรือ TOD ประกอบด้วย 1.สถานีศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ (ศูนย์กลางการประชุมและแสดงสินค้า) 2.สถานีตลาดมีโชค (ธุรกิจ ศูนย์กลางเมืองใหม่) 3.สถานีขนส่งอาเขต (ธุรกิจ ศูนย์กลางเมืองใหม่) 4.สถานีไร่ฟอร์ด (การศึกษา) 5.สถานีขนส่งช้างเผือก (การอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า) 6.สถานีไนท์บาซาร์ (ธุรกิจ และการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า) 7.สถานีรถไฟ (ธุรกิจ ศูนย์กลางเมืองใหม่) 8.สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ธุรกิจ ศูนย์กลางเมืองใหม่) 9.สถานีศรีบัวเงินพัฒนา (ที่พักอาศัยชานเมือง) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือท้องถิ่นและภาคประชาชนถึงจะพัฒนาพื้นที่ได้

“สำหรับเชียงใหม่การทำเรื่องสมาร์ทซิตี้มีสมาร์ทโมบิลิตี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีเงินลงทุนและความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับอนาคตของเมือง และเป็นเมืองที่ยั่งยืนต่อไป” ปลัดคมนาคมกล่าว

https://www.prachachat.net/local-economy/news-265443
 
#23 ·
คมนาคมจุดพลุ “เชียงใหม่” วางข่ายรถไฟ-ฟีดเดอร์เสริม TOD พัฒนาเมือง

วันที่ 21 December 2018 - 15:32 น.

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ” ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้หัวข้อ “เชียงใหม่ 2019 Smart Economy Smart City” โดยได้รับเกียรติจาก “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ปลัดกระทรวงคมนาคม มาเป็นวิทยากรในการฉายภาพทิศทาง และนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาหัวเมืองหลักของพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงคมนาคมกำลังเตรียมผลักดันโครงการระบบขนส่งมวลชน เพื่อตอบรับการเติบโตของจังหวัดเชียงใหม่

โดย “ชัยวัฒน์” กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ทำแผนแม่บทขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นมา และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว แบ่งเป็น 3 สาย 1.สายสีแดง 12 สถานี ระยะทาง 12.54 กม. 2.สายสีน้ำเงิน 13 สถานี ระยะทาง 10.47 กม. 3.สายสีเขียว 10 สถานี ระยะทาง 11.92 กม. รวม 35 สถานี รวมระยะทาง 34.93 กม.

นอกจากนี้ยังมีระบบฟีดเดอร์ แบ่งเป็นฟีดเดอร์ระบบรอง 7 เส้นทาง ระยะทาง 89 กม. และฟีดเดอร์ระบบเสริมอีก 7 เส้นทาง ระยะทาง 85 กม. โดยมีวงเงินในการจัดทำระบบหลักทั้ง 3 เส้น อยู่ที่ 80,320 ล้านบาท และระบบฟีดเดอร์ 6,336 ล้านบาท

“ปัจจุบันกำลังออกแบบเส้นทางสายสีแดง คาดว่าน่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2563 และปี 2567 จะก่อสร้างเสร็จสิ้นพร้อมให้บริการ ซึ่งชาวเชียงใหม่มีข้อเรียกร้องให้ทำเป็นรถไฟใต้ดิน เนื่องจากหากเป็นรถไฟลอยฟ้าอาจจะบดบังทิวทัศน์ของเมืองเก่า ซึ่งการลงไปใต้ดินจะทำให้ราคาแพงขึ้น 3 เท่า”

ขยายโครงข่ายบัตรแมงมุม
ชัยวัฒน์ยังกล่าวอีกว่า อนาคตบัตรแมงมุงจาก กทม.จะสามารถใช้ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้อีกด้วย เพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย และให้ประชาชนเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต จากเดิมคิดว่าจะไปสายไหนต่อสายไหน เป็นการเดินทางออกนอกบ้านด้วยขนส่งสาธารณะ หรือรถส่วนตัว โดยหากรถไฟฟ้าเสร็จจำเป็นต้องมีระบบก้างปลามาสนับสนุน ผ่านการเป็นฟีดเดอร์ ซึ่งจะดึงขนส่งสาธารณะแบบเดิม เช่น รถแดง เข้ามาร่วมในการพัฒนาส่วนนี้ด้วย



โดยขณะนี้การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในขั้นตอนการทำแผนแม่บทระยะที่ 2 คาดว่าอีก 5 ปีจึงจะเสร็จสิ้น ซึ่งจะต้องคิดว่าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะรอบรัศมี 2 กม.ของจังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ หากประเมินสภาพการสัญจรเทียบเคียงกับในกรุงเทพฯ แบ่งเป็น กลุ่ม A คือ MRT BTS และ ARL กลุ่ม B คือ BRT และคนกลุ่ม C คือ รถประจำทาง เช่น แท็กซี่ สองแถวแล้วนั้น พบว่าในจังหวัดเชียงใหม่จะเน้นหลักในกลุ่ม C เพราะปริมาณผู้โดยสารไม่มากนัก โดยแผนที่จะจัดทำจะอยู่ในระดับกลุ่ม B แต่ไปไม่ถึงกลุ่ม A

หนุนปรับผังเมืองสู่ TOD
ชัยวัฒน์ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ด้านการพัฒนาพื้นที่ เมื่อมีรถไฟฟ้าแล้วจำเป็นต้องมีสถานีที่นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ในแต่ละจุด เหมือนต้นแบบของพื้นที่พัฒนารอบสถานี หรือ TOD ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการร่วมมือกันระหว่างเอกชน กับรัฐบาลกลาง รวมถึงประชาชนที่ยอมเสียพื้นที่และย้ายไปอยู่พื้นที่อื่น หลังจากการปรับผังเมืองในการใช้พื้นที่ ภายใต้ข้อแลกเปลี่ยนบางประการ

ทั้งนี้ ในประเทศไทยคงเป็นไปได้ยาก แต่ตนอยากเห็นความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ โดยทางกระทรวงคมนาคมมีแนวทางจัดทำ TOD เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองในจังหวัดเชียงใหม่แบ่งพื้นที่เป็น 9 จุดได้แก่

1.สถานีศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ (ศูนย์กลางการประชุมและแสดงสินค้า) 2.สถานีตลาดมีโชค (ธุรกิจ ศูนย์กลางเมืองใหม่) 3.สถานีขนส่งอาเขต (ธุรกิจ ศูนย์กลางเมืองใหม่) 4.สถานีไร่ฟอร์ด (การศึกษา) 5.สถานีขนส่งช้างเผือก (การอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า)

6.สถานีไนท์บาซาร์ (ธุรกิจ และการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า) 7.สถานีรถไฟ (ธุรกิจ ศูนย์กลางเมืองใหม่) 8.สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ธุรกิจ ศูนย์กลางเมืองใหม่) 9.สถานีศรีบัวเงินพัฒนา (ที่พักอาศัยชานเมือง) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของท้องถิ่นและภาคประชาชนถึงจะพัฒนาพื้นที่ได้

พัฒนาสู่คมนาคมระบบราง
นอกจากนี้ ชัยวัฒน์ยังกล่าวอีกว่า กรอบยุทธศาสตร์แผนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งชาติต้องเปลี่ยน เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็วขึ้น แต่คมนาคมไทย 20 ปีที่ผ่านมาติดกับดักจราจรติดขัด จึงมุ่งเน้นแต่การสร้างถนน โดยจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น กระทรวงคมนาคมนำมาย่อยเขียนเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (2560-2579) มีโครงการมาก ใช้เงินมหาศาล จึงมีการแบ่งออกมาเป็นแผน 8 ปี ทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย (2558-2565) มี 111 โครงการรถไฟใน กทม. ภูมิภาค รวมถึงท่าเรือที่ทยอยตามมา

“ต่อไปองค์กรด้านคมนาคมจะปรับวิธีคิด ไม่ทำถนนเยอะ แต่เราจะทำระบบราง ด้วยการเพิ่มรถไฟรางคู่ 3,150 กม. 5.5 แสนล้านบาท (2558-2565) เพิ่มเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 2,506 กม. 1.6 ล้านล้านบาท (2560-2579) เพื่อทำการเชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองหลัก เป็นการเปลี่ยนโฉมขนส่งของไทยเป็นโครงข่ายเชื่อมการพัฒนา” ชัยวัฒน์กล่าว

ถือได้ว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของการเติบโตในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เปิดให้ “เอกชน” และ “ประชาชน” ได้มีส่วนร่วมกับการพัฒนา

https://www.prachachat.net/local-economy/news-268412
 
This is an older thread, you may not receive a response, and could be reviving an old thread. Please consider creating a new thread.
Top