รื้อที่ราชพัสดุปั้นหมื่นล้าน "คิกออฟ"มักกะสัน-เขตศก.
updated: 12 ธ.ค. 2558 เวลา 10:01:46 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ธนารักษ์เตรียมคลอดแผนแม่บทพัฒนา 5 ด้าน ขยายฐานค่าเช่า เพิ่มรายได้ปีละหมื่นล้าน เล็ง 10 โปรเจ็กต์ใหม่ นำร่องที่ดินมักกะสัน-เขตเศรษฐกิจพิเศษ คิกออฟไตรมาสแรกปี"59 พร้อมปัดฝุ่นโครงการค้างที่ดินหมอชิต โรงภาษีร้อยชักสาม
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้กรมธนารักษ์กำลังเร่งทำแผนแม่บทพัฒนาที่ราชพัสดุ ระยะปานกลาง 5 ปี (2559-2563) แบ่งเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) การพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ 2) การพัฒนาพื้นที่ในเชิงสังคม 3) การพัฒนาพื้นที่ในเชิงอนุรักษ์ 4) การพัฒนาพื้นที่เชิงท่องเที่ยว และ 5) การสร้างศูนย์ราชการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้จากค่าเช่าที่ราชพัสดุเป็นปีละ 10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท หรือสร้างรายได้เพิ่มให้รัฐ 50,000 ล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า
ส่วนที่ จะสร้างรายได้ คือ การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ โครงการใหม่ ที่มีเกือบ 10 โครงการ อย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ดินมักกะสัน เป็นต้น อีกส่วนคือ โครงการเก่าที่มีจำนวนมากทั่วประเทศ ทั้งที่พัฒนา และให้เช่าอยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์อื่น ไม่ว่าจะเป็นกรณี บมจ.ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโครงการค้าง อาทิ โครงการพัฒนาที่ดินหมอชิต มูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท โรงภาษีร้อยชักสาม ขณะนี้ได้สั่งการให้สำรวจรวบรวมนำมาบรรจุไว้ในแผนแม่บทสางปัญหาทั้งหมด
คิกออฟแผนไตรมาสแรกปี 59
นาย จักรกฤศฏิ์กล่าวว่า สิ้นเดือน ธ.ค.นี้จะสรุปแผนแม่บทออกมาให้เห็นภาพได้ราว 70% ของแผน และเริ่มลงมือพัฒนาทันที โดยช่วง 3 เดือนแรกปี 2559 หลายโครงการจะเกิดขึ้น ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ อาทิ บริเวณเรือนจำคลองเปรม หมอชิต โรงภาษีร้อยชักสาม มักกะสัน เป็นต้น กรณีที่ดินมักกะสันจะทำเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) ระยะเร่งด่วน (Fast Track) ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่อีก 2 สัปดาห์จะทราบรายละเอียด และกำหนดความชัดเจนเรื่องส่งมอบพื้นที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มาให้กรมธนารักษ์ภายใน ธ.ค.นี้
จากนั้นจะตั้งที่ปรึกษาเข้ามาศึกษา โครงการ และผลตอบแทน การให้เอกชนเช่าจะแก้ไข พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ฯ จากปัจจุบันระยะเวลาเช่าสูงสุด 30 ปี เป็น 99 ปี
"พื้นที่โซนแรก 150 ไร่ นำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ก่อน ส่วนโซนที่ 2 ต้องดูว่าจะย้ายคน โรงเรียน โรงพยาบาลออกอย่างไร ส่วนไหนส่งมอบได้ก่อน ส่งมอบมาท่าไหร่จะตัดหนี้ให้เท่านั้นจากหนี้ทั้งหมดที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 6.1 หมื่นล้านบาท"
นักลงทุนรุมตอม มักกะสัน
โครงการ พัฒนาที่ดินบริเวณมักกะสันนี้ มีนักลงทุนสนใจสอบถามเข้ามาค่อนข้างมาก ทั้งนักลงทุนไทย กลุ่มใหญ่ ๆ ทั้งหมด และต่างชาติ อาทิ ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย เป็นต้น
ขณะที่ในส่วนของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จะเปิดให้เอกชนประมูลเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ละ 1 ราย ขณะนี้มีการประชุมกำหนดร่างทีโออาร์เบื้องต้นแล้ว กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษคงได้ค่าเช่าไม่มาก น่าจะแค่หลักร้อยล้านบาทต่อปี เพราะเน้นสนับสนุนให้เอกชนเข้าไปลงทุนมากกว่า
พร้อมเปิดประมูล
สำหรับ การพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ที่ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดำเนินการจะเริ่มได้ก่อน เช่น สงขลา สระแก้ว เป็นต้น ส่วนที่เหลือจะให้เอกชนเข้ามาประมูลลงทุน พร้อมที่สุดคือ มุกดาหาร ตราด ส่วน จ.ตาก ต้องรอเคลียร์เรื่องค่าชดเชย สระแก้วอยู่ระหว่างรอส่งมอบพื้นที่
มุ่งพัฒนาเมืองเก่า
นาย จักรกฤศฏิ์กล่าวว่า ขณะที่การพัฒนาพื้นที่เชิงอนุรักษ์จะมีการสำรวจอาคารราชพัสดุเก่า ๆ บ้านไม้เก่า ตลาดเก่า 70 ปี 100 ปี ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ จากนั้นจะปรับปรุงพัฒนาให้มีสภาพดีขึ้น เพื่อการอนุรักษ์พร้อมกับทำให้ได้ประโยชน์ และเกิดมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว เร็ว ๆ นี้เตรียมนำร่องพัฒนาพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯชั้นในที่เป็นย่านตลาดเก่า
"อย่าง ตลาดเก่าพัฒนาแล้ว จะมีรายได้จากการท่องเที่ยว บ้านเก่า อาคารเก่า พัฒนาแล้วก็อาจจะมาเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ จะได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้น จากเดิมอาจให้คนขับรถอยู่ ให้ข้าราชการเฝ้า พอปรับปรุงจะกลายเป็นอาคารอนุรักษ์ แล้วจะให้ร้านค้าแบรนด์ดัง ๆ เช่าใช้ประโยชน์ในเชิงการค้า" นายจักรกฤศฏิ์กล่าว
5 พันไร่รองรับ บ้านคนจน
ขณะ ที่การพัฒนาพื้นที่เชิงสังคม จะเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ การจัดสรรที่ดินทำกิน สวนสาธารณะ ห้องสมุด และการพัฒนาสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายรัฐบาล โดยขณะนี้ได้สำรวจพื้นที่เตรียมไว้แล้ว 76 แปลงทั่วประเทศ คิดเป็นพื้นที่ราว 5,000 ไร่
คาดว่าจะนำร่องพัฒนาพื้นที่เชิงสังคม สร้างบ้านผู้มีรายได้น้อย บริเวณใกล้จตุจักร เป็นที่ดินขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) เดิม 3-4 ไร่
บ้านคนจน ของขวัญปใหม่
ด้าน นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางการดำเนินโครงการที่อยู่อาศัยผู้มีราย ได้น้อย วันที่ 8 ธ.ค.ว่า ได้เชิญเอกชนมาประชุมโดยเอกชนสนใจโครงการนี้ แต่ในรายละเอียดต้องปรับปรุงเพิ่มเติม อาทิ เอกชนเสนอราคากว่า 1 ล้านบาท/ยูนิต แต่รัฐต้องการให้อยู่ที่ 5-7 แสนบาท จึงต้องปรับปรุงในแง่คุณสมบัติคนกู้ พื้นที่ที่อยู่อาศัย การผ่อนดาวน์ อัตราดอกเบี้ย
ภาคเอกชนให้ความสนใจ เนื่องจากที่ผ่านมาเอกชนทำได้ อย่างโครงการของ LPN เป็นต้น ราคายูนิตละ 5-7 แสนบาท รัฐตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้ได้ 2.7 ล้านยูนิต ทั้งทาวน์เฮาส์และคอนโดฯ คิดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษ โดยให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยกู้ รวมถึงปล่อยกู้ผู้ประกอบการด้วย สัปดาห์หน้า อธิบดีกรมธนารักษ์จะนำภาคเอกชนลงดูพื้นที่เป้าหมายในเขตกรุงเทพฯ 5 แห่ง ต้องให้เอกชนแข่งขันกันเลือกพื้นที่ ส่วนอัตราค่าเช่ายังไม่ได้สรุป
"อยากให้เจ้าหน้าที่ไปปรับปรุงรายละเอียดภายในสัปดาห์นี้ สัปดาห์หน้ามาประชุมกันอีกรอบ ถ้าทันก็จะเป็นของขวัญปีใหม่"
คิดค่าเช่าบ้านคนจนต่ำสุด
ทั้งนี้ ค่าเช่าที่ดินสำหรับสร้างบ้านผู้มีรายได้น้อยทุกแปลง ไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด กรมธนารักษ์จะคิดค่าเช่าในอัตราที่ต่ำที่สุดแต่ละพื้นที่ อาจแค่ตารางวาละ 0.25 บาท หรือ 0.50 บาท ขณะเดียวกันการพัฒนาพื้นที่เชิงสังคม ยังมีการพัฒนาพื้นที่ริมคลอง 16-18 สายทั่วประเทศ จะนำร่องบริเวณริมคลองลาดพร้าว
ด้านการพัฒนาพื้นที่ เชิงท่องเที่ยว จะโฟกัสไปที่เกาะต่าง ๆ ที่เป็นที่ราชพัสดุกว่า 10 เกาะ ซึ่งปัจจุบันถูกบุกรุกอย่างกรณีเกาะเต่า เป็นต้น ซึ่งได้เข้าไปแก้ปัญหาแล้ว โดยเรียกผู้เช่า ผู้บุกรุกมาเจรจา แนวทางเดียวกับกรณีสวนผึ้ง เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ดันศูนย์ราชการ 16 จังหวัด
ส่วน การสร้างศูนย์ราชการ โดยเฉพาะ 16 จังหวัดที่ยังไม่มีศูนย์ราชการในปัจจุบัน โดยกรมธนารักษ์จะหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดขอคืนที่ราชพัสดุที่ไม่ได้ใช้ ประโยชน์เต็มที่มาดำเนินการ ขณะเดียวกัน บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) กำลังจะเดินหน้าสร้างศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะเฟส 2
"ได้สั่งการ ธพส.ให้เดินหน้าศูนย์ราชการ เฟส 2 เรื่องโครงสร้างส่วนแบ่งรายได้ต้องได้จากการประหยัดงบฯของส่วนราชการที่เช่า อยู่ที่อื่นแล้วย้ายมาเช่าที่นี่แทน ขณะที่การแก้ไขปัญหาจราจรทั้งระบบอธิบดีกรมธนารักษ์จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับผู้ บริหารหน่วยงานที่เช่าพื้นที่ ต้นปี 2559 จะชัดเจน"
ระยะยาวจะทำแผน แม่บทพัฒนาพื้นที่ของราชการและรัฐวิสาหกิจทั้งระบบอีกครั้ง เป็นแผน 10 ปี (2559-2569) มูลค่านับแสนล้านบาท อาทิ การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น บริเวณองค์การสะพานปลา บริเวณอู่กรุงเทพฯ เป็นต้น
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1449859243