ธนารักษ์ยันเดินหน้าร้อยชักสาม ไม่หวั$
กรมธนารักษ์ยันเดินหน้าโรงแรม 6 ดาวพื้นที่โรงภาษีร้อยชักสามแม้ว่า N-PARK แกนนำกลุ่มผู้ชนะประมูลจะถูกฟ้องล้มละลาย ระบุต้องรอให้คดีถึงที่สุดศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ก่อนจึงหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป เผยสาเหตุที่โครงการล่าช้าเกิดจากขั้นตอนจากหน่วยงานภายนอกทั้งกทม.-กรมศิลปากร เพราะเป็นพื้นที่โบราณสถานจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ด้านที่ราชพัสดุ เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงโรงภาษีร้อยชักสาม ที่กิจการร่วมการค้า ซึ่งประกอบด้วยบริษัทแนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน)N-PARK บริษัทอามันรีสอร์ท เซอร์วิสเซส ลิมิเต็ด และบริษัทซิลเวอร์ลิงค์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด ชนะการประมูลเพื่อพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวไปนั้น
แม้ว่าN-PARK แกนนำกิจการร่วมค้าจะถูกบริษัทบริหารสินทรัพย์ สาทร จำกัด ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหนี้ในแผนฟื้นฟูกิจการ และได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการครบถ้วนแล้ว ยื่นฟ้องบริษัทในคดีล้มละลายต่อศาลล้มละลายกลางโดยขอให้ศาลล้มละลายกลางพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดและพิพากษาให้บริษัทเป็นบุคคลล้มละลาย ปัจจุบันศาลล้มละลายกลางรับฟ้องแล้ว และคดีอยู่ระหว่างการนัดพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง ทางกรมธนารักษ์คงปล่อยให้กิจการร่วมค้าดำเนินการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวต่อไป
“การพัฒนาพื้นที่โรงภาษีร้อยชักสามนั้นคงต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งกรณีที่N-PARKถูกฟ้องล้มละลายนั้นยังไม่ถือว่าN-PARKล้มละลายไปแล้ว เพราะการฟ้องร้องยังต้องมีกระบวนการไต่สวนอีกมากและใช้เวลานานจึงจะสามารถรู้ผลว่าจะมีการตัดสินคดีว่าล้มละลายหรือไม่ ดังนั้นการพัฒนาโครงการแปลงโรงภาษีร้อยชักสามก็คงต้องเดินหนาต่อไปตามเงื่อนไขสัญญา” นายอำนวยกล่าว
แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์กล่าวว่า หากN-PARKถูกศาลตัดสินว่าให้ล้มละลายและมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ภายใต้การควบคุมของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้วเมื่อนั้นจึงจะต้องมาดูในเงื่อนไขสัญญาใหม่ว่าต้องยกเลิกสัญญาหรือไม่อย่างไร เนื่องจากN-PARKเป็นหนึ่งในคู่สัญญาจากทั้งหมด 3 บริษัท หากเป็น N-PARK รายเดียวก็อาจยกเลิกสัญญาได้เลยเพราะผิดเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
“ตอนนี้เรื่องอยู่ระหว่างดำเนินคดีในศาลและยังไม่มีคำพิพากษาใดๆ ออกมา N-PARK และกลุ่มกิจการร่วมค้าก็สามารถพัฒนาพื้นที่ต่อไปได้ กรมธนารักษ์ยังไม่มีมูลเหตุใดๆ ที่จะไปยกเลิกสัญญากับ N-PARK และกลุ่มกิจการร่วมค้าจนกว่าคดีจะถึงที่สุด” แหล่งข่าวกล่าว
ส่วนความคืบหน้าของโครงการนั้นในขณะนี้ N-PARKยังไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างได้ เนื่องจากขั้นตอนการยื่นแบบขอก่อสร้างกับกรุงเทพมหานคร(กทม.) มีการส่งแบบกลับคืนมาให้แก้ไขบางส่วนเลยทำให้ระยะเวลาการเข้าพื้นที่เพื่อก่อสร้างล่าช้าออกไป นอกจากนี้ยังต้องให้กรมศิลปากรอนุญาตก่อสร้างโครงการด้วยเนื่องจากเป็นเขตโบราณสถาน
แต่ทั้งนี้ความล่าช้าที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของผู้ชนะการประมูล เป็นความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานภายนอกที่ต้องมีการประสานงานกันจึงไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้รับสัมปทานแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังติดปัญหาในเรื่องการก่อสร้างที่อยู่อาศัยชดเชยให้กับตำรวจน้ำบริเวณถนนเจริญกรุง 53 ซึ่งการก่อสร้างที่พักอาศัยจำนวน 100 หน่วยดังกล่าวอยู่ระหว่างการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ให้กับทางกทม.อนุญาตก่อสร้าง
โดยหากทางN-PARK สามารถก่อสร้างพื้นที่ชดเชยได้ภายใน 2 ปีตามสัญญาก็สามารถเข้าพื้นที่เพื่อทำการขุดสำรวจตามขั้นตอนกรมศิลปากร ก่อนลงมือก่อสร้างตามแผนการที่ N-PARKได้เสนอให้แก่กรมธนารักษ์ต่อไป ทั้งนี้แม้ว่าจะล่าช้ากว่ากำหนดก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดของ N-PARKแต่อย่างใดเพราะความล่าช้าที่เกิดขึ้นเกิดจากหน่วยงานที่ต้องประสานงานภายนอกซึ่งเป้นตัวแปรที่กรมธนารักษ์และผู้รับสัมปทานไม่สามารถควบคุมได้
ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้ประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมประมูลร่วมลงทุนโครงการก่อสร้างโรงแรมในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 50-60 ไร่ เมื่อเดือนเมษายน 2547 ซึ่งในการประมูลมีผู้ยื่นซองประมูลทั้งสิ้น 3 ราย และผลปรากฏว่า กิจการร่วมการค้าดังกล่าว เป็นผู้เสนอโครงการสอดคล้องเงื่อนไขการประมูลและให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด จึงได้เสนอกระทรวงการคลังเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม
2547 ได้เห็นชอบตามเสนอ
สำหรับการก่อสร้างอาคารโรงแรมจะยกเป็นกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง พร้อมกับปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโบราณ 3 หลังที่มีอยู่เดิม เมื่อสร้างเสร็จจะมีห้องพักรวม 33 ห้อง โดยใช้หลักแนวความคิดการพัฒนาเชิงอนุรักษ์โบราณสถาน ตลอดจนการคงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและทางประวัติศาสตร์ให้มากที่สุด
ส่วนผลประโยชน์ตอบแทนที่ทางราชการจะได้รับนอกเหนือจากการก่อสร้างอาคารโรงแรมนั้น ประกอบด้วย ผลประโยชน์ตอบแทนด้านการเงิน ซึ่งแบ่งเป็นค่าธรรมเนียมการจัดหาประโยชน์จำนวน 125 ล้านบาท โดยชำระในวันลงนามสัญญา และค่าเช่า 30 ปี รวมเป็นจำนวน 1,471.30 ล้านบาท ส่วนผลประโยชน์อื่น จะต้องสร้างอาคารชดเชยให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมศุลกากร ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ดังกล่าวเป็นมูลค่ารวม 152.80 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังต้องจ่ายค่าเช่าที่ทำการ ค่าเช่าบ้านพักเจ้าหน้าที่ในระหว่างการก่อสร้าง ตลอดจนค่าขนย้ายทรัพย์สินทั้งหมดด้วย
www.manager.co.th
28/05/50