SkyscraperCity Forum banner

Khon Kaen Light Rail Transit (Red Line)

117820 Views 295 Replies 75 Participants Last post by  Wisarut
41 - 58 of 296 Posts
รถไฟฟ้าเชียงใหม่เริ่มก่อสร้างปี 64 สายแรกสีแดง แนวทิศเหนือ-ใต้

วันที่ 8 กันยายน 2561 - 19:22 น.

สนข.ชงรถไฟฟ้ารางเบา‘ขอนแก่น-พิษณุโลก’ ราว 7 หมื่นล้าน ให้ คจร. ไฟเขียว ก.ย.นี้ ส่วนเชียงใหม่เริ่มก่อสร้างปี 64 สายแรกสีแดง แนวทิศเหนือ-ใต้ ดึงรถสองแถวแดงเป็นฟีดเดอร์ร่วมระบบตั๋วแมงมุม เร่งศึกษารถไฟฟ้าอุดรเพิ่ม

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนและการจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังนำสื่อมวลชนศึกษาและสำรวจเส้นทาง โครงการรถไฟฟ้าเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 8-9 ก.ย. ที่จังหวัดเชียงใหม่ ว่า เดือน ก.ย.นี้ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) อนุมัติแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะ ประเภทรถไฟฟ้ารางเบาระดับพื้นดิน (Tram) ในจ.ขอนแก่น วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท และจ.พิษณุโลก 2.4 หมื่นล้านบาท พร้อมโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ของขอนแก่นลงทุน ส่วนพิษณุโลกโอนให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการ

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าในต่างจังหวัดที่ คจร. เห็นชอบแล้ว ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา โอนให้ รฟม. ดำเนินการต่อทั้งหมด โดยภูเก็ตเอกชนและท้องถิ่นเริ่มตั้งบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง เข้าร่วมพัฒนา ส่วนโคราชและเชียงใหม่ อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการให้เอกชนร่วมทุนรูปแบบพีพีพี

ส่วนของเชียงใหม่ตามแผนแม่บท จะก่อสร้าง 3 เส้นทาง ราว 1 แสนล้านบาท แต่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ จึงก่อสร้างเส้นทางแรก หรือสายสีแดงก่อน แนวทิศเหนือ-ใต้ ผ่านรพ.นครพิงค์ ศูนย์ราชการเชียงใหม่ สนามกีฬา 700 ปี เชื่อมเข้าสนามบิน สิ้นสุดห้างบิ๊กซีหางดง ระยะทางประมาณ 12 กม. ลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท คาดครม.อนุมัติ เปิดประมูลปลายปี 2563 เริ่มก่อสร้างปี 2564 เปิดให้บริการปี 2570 นับจากตั้งแต่นี้เป็นต้นไป สนข. จะเริ่มสร้างการรับรู้เรื่องรถไฟฟ้ารางเบาระดับพื้นดิน ให้ประชาชนในท้องถิ่น จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วม


ขณะเดียวกันจะดึงกลุ่มรถสองแถวแดง จ.เชียงใหม่ เข้ามามีส่วนร่วม โดยจะปรับปรุงเส้นทางเพื่อให้รถแดงกลายเป็นระบบขนส่งผู้โดยสารไปยังรถไฟฟ้า (Feeder) ซึ่งเบื้องต้นกลุ่มรถแดงเห็นด้วยแล้ว และพร้อมเปลี่ยนเส้นทางตามนโยบายดังกล่างซึ่ง สนข. เตรียมให้รถสองแถวแดงเข้าร่วมระบบบัตรแมงมุมด้วนเเพื่อให้ประชาชนเปลี่ยนโหมดการเดินทางแบบไร้รอยต่อ

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในต่างประเทศยังมีการออกแบบแทรมให้เข้ากับเอกลักษณ์หรือบรรยากาศของท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น ในฝรั่งเศสมีการออกแบบหัวรถแทรมเป็นแก้วไวน์ ซึ่งก็สามารถใช้โมเดลนี้ในประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ ยอมรับว่า มีความกังวลในการขุดดินเพื่อก่อสร้างทางช่วงใต้ดิน เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองเก่าอายุ 700 ปี ต้องขุดด้วยความระมัดระวังหากเจอวัตถุโบราณใต้ดิน ก็มีแนวคิดที่จะสร้างเป็นพิพิธฑภัณฑ์บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อทำเป็นสถานที่จัดแสดงวัตถุโบราณให้คนรุ่นหลังได้ดู

นอกจากนี้ กำลังเร่งศึกษารถไฟฟ้าในจ.อุดรธานี โดยจะหารือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการบินพลเรือน (กพท.) ก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อกับสนามบินด้วย โดยเฉพาะสนามบินเชียงใหม่ และภูเก็ตแห่งที่ 2 จะต้องมีการวางแผนงานก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน พร้อมกับการสร้างสนามบิน ป้องกันปัญหาจราจรแออัดในอนาคต

โครงการรถไฟฟ้าต่างจังหวัดเหล่านี้ ดึงดูดความสนใจของนักลงทุนด้านระบบจากหลายประเทศ เช่น จีน ฝรั่งเศส สเปน และเกาหลีใต้ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีเทคโนโลยีที่ดี และความพร้อมด้านอะไหล่ ควรเปิดกว้างให้นักลงทุนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

https://www.khaosod.co.th/economics/news_1547263
See less See more
ลุ้น คจร.เคาะต่อขยายสีเหลืองเชื่อมรัชโยธิน และระบบขนส่งขอนแก่น-พิษณุโลก

เผยแพร่: 18 ก.ย. 2561 07:31 ปรับปรุง: 18 ก.ย. 2561 09:58 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

รฟม.ลุ้น คจร.19 ก.ย.เคาะต่อขยายโมโนเรลสีเหลือง จากรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน เพื่อบรรจุในแผนแม่บทฯ ก่อนเดินหน้าเจรจาผลประโยชน์และส่วนแบ่งรายได้เพิ่มกับกลุ่มบีทีเอส ด้าน สนข.เสนอผลศึกษาแก้จราจร เมืองขอนแก่นผุดรถไฟฟ้ารางเบา ส่วนพิษณุโลกเสนอแทรมล้อยาง

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.ได้เสนอผลการศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม. และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ระยะทาง 2.6 กม. ไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว และคาดว่าจะได้รับการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อเพิ่มเติมในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ในการศึกษาส่วนต่อขยายทั้ง 2 โครงการ คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้เห็นชอบแล้วซึ่งเป็นข้อเสนอซองที่ 3 (เพิ่มเติม) ของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ซึ่งสายสีชมพูแม้ไม่ได้ต่อขยายจากปลายทางเหมือนสายสีเหลือง และยังเข้าไปเชื่อมต่อกับพื้นที่ของเอกชน แต่ถือว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีศูนย์แสดงสินค้าที่ประชาชนจำนวนมากเข้าไปใช้ประโยชน์ จึงถือเป็นส่วนต่อขยายจากโครงการเดิม โดยเอกชนจะลงทุนก่อสร้างงานโยธาทั้งหมด ขณะที่ รฟม.จะเจรจากับบริษัทนอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBM (กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ได้ตั้งขึ้นดำเนินโครงการ) ในผลประโยชน์และส่วนแบ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการต่อเชื่อมเข้าไปยังเมืองทองธานี

ส่วนต่อขยายสายแยกอิมแพ็คลิงก์ จากสถานีศรีรัช วิ่งเข้าซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ไปจนสุดศูนย์ฯ อิมแพ็ค ระยะทาง 3.7 กม. มี 2 สถานี คือ อิมแพ็คชาลเลนเจอร์(MT01) และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02)

สายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร คาดวงเงินค่าก่อสร้าง 3,800 ล้านบาท (แยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน) 2 สถานี คือ YLEX-01 อยู่หน้าอาคารจอดรถของสำนักงานศาลยุติธรรมใช้แนวเกาะกลาง แล้วเบี่ยงแนวเส้นทางออกจากเกาะกลางไปทางซ้ายตามแนวถนนรัชดาภิเษกเพื่อหลบอุโมงค์ทางลอดบริเวณแยกรัชโยธิน และสถานี YLEX-02 อยู่เหนือทางเท้าบริเวณสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน และมีทางเดินเชื่อมยกระดับ (Skywalk) ไปยังสถานีพหลโยธิน 24 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (ซึ่งกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ได้ตั้ง บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ดำเนินการ)

รายงานข่าวแจ้งว่า คจร.จะประชุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้ จะมีการพิจารณาโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ส่วนต่อขยายสายสีชมพูยังเสนอไม่ทันในครั้งนี้ และเสนอแนวทางและผลการศึกษาการพัฒนาพื้นที่และทางสัญจรเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

นอกจากนี้ จะมีการเสนอรายงานผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะเป็นรถไฟฟ้ารางเบา เส้นทางในแนวเหนือ-ใต้ (บ้านสำราญ ตำบลสำราญ-ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น) ระยะทางประมาณ 22.8 กม. วงเงิน 26,900 ล้านบาท

และผลการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก โดยมี 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 83.05 กม. มูลค่าก่อสร้าง 2,607 ล้านบาท โดยจะลงทุนสายสีแดงระยะทาง 12.6 กม. ซึ่งเป็นรถรางล้อยาง (Auto Tram) วงเงิน 762 ล้านบาท ก่อน ส่วนอีก 5 เส้นทางจะเป็นรูปแบบรถโดยสาร หรือไมโครบัส

https://mgronline.com/business/detail/9610000093362
See less See more
เร่งรถไฟฟ้า5หัวเมืองใหญ่ BTSประมูล”เชียงใหม่-ภูเก็ต”

วันที่ 22 September 2018 - 09:01 น.

รัฐคลอดแผนแม่บทรถไฟฟ้า 5 จังหวัด เหนือ อีสาน ใต้ เงินลงทุน 2 แสนล้าน แก้รถติดเสริมแกร่งเมืองท่องเที่ยว ปลุกเศรษฐกิจภูมิภาค ดึงเอกชนร่วมทุน PPP 30-50 ปี รฟม.ประเดิม “ภูเก็ต-เชียงใหม่” ลุยสำรวจเวนคืน เปิดประมูลปีหน้า 6 หมื่นล้าน BTS ผนึกท้องถิ่นรอประมูล ส่วนขอนแก่น 5 เทศบาลรวมพลัง ลงขันตั้งบริษัทระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯกู้เงินนอกขอลุยเอง รอหน่วยงานรัฐพิจารณาไม่ให้ขัดกฎหมาย

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สนข.ศึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาคเพื่อแก้ปัญหาจราจรในเมืองใหญ่ 5 จังหวัดเสร็จแล้ว ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น และพิษณุโลก วงเงินลงทุน 208,821 ล้านบาท กรอบพัฒนา 10 ปี โดยรัฐและเอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP 30-40-50 ปี เพราะรัฐบาลต้องการให้เอกชนกระจายการลงทุนในภูมิภาค

สร้างรถไฟฟ้ารางเบา 5 จังหวัด

ระบบที่เหมาะสมจะเป็นรถไฟฟ้ารางเบาแบบไลต์เรลและแทรม ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ศึกษารูปแบบ PPP และคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน 2 จังหวัดคือ ภูเก็ตจังหวัดแรกและเชียงใหม่

ส่วนโคราชจะเสนอ ครม.ในเดือนตุลาคมนี้ ขณะที่ จ.ขอนแก่นและพิษณุโลก ต้องรอพิจารณาจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธานเดิมกำหนดประชุมวันที่ 19 ก.ย. ล่าสุดเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด

ขอนแก่นรอเคาะ

โดย จ.พิษณุโลก มอบให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินการ ส่วน จ.ขอนแก่น ต้องการดำเนินการเอง หาก คจร.เห็นชอบจะส่งแผนแม่บทให้จังหวัดดำเนินการต่อไป ส่วนการลงทุนจะเป็นแบบ PPP หรือไม่ อยู่ที่การตัดสินใจของจังหวัด

“รถไฟฟ้าขอนแก่นเป็นครั้งแรกที่ 5 เทศบาลของจังหวัดจะทำเอง ถ้าลงทุนแบบ PPP ต้องศึกษารูปแบบที่เหมาะสมจะเป็น PPP net cost หรือ PPP gross cost ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556”


เปิดละเอียดยิบเส้นทาง

นายชัยวัฒน์ กล่าวถึงผลศึกษาแต่ละจังหวัดว่า ของภูเก็ตจะเป็นรถไฟฟ้ารางเบาแบบไลต์เรล วงเงิน 39,406 ล้านบาท เป็นทางวิ่งระดับดินตลอดเส้นทาง มี 24 สถานี ยกเว้นสนามบินภูเก็ตจะเป็นสถานียกระดับ มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง อยู่บริเวณ อ.ถลาง

จุดเริ่มอยู่สถานีรถไฟท่านุ่น จ.พังงา เชื่อมต่อระบบรถไฟสายใหม่สุราษฎร์ธานี-พังงา สิ้นสุดทางเหนือของห้าแยกฉลอง ห่างจากห้าแยก 200 เมตร รวม 58.525 กม. จะเริ่มช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง 41.7 กม. วงเงิน 30,154 ล้านบาท

“เชียงใหม่” เป็นรถไฟฟ้ารางเบาระบบไลต์เรล เงินลงทุน 105,735 ล้านบาท มีทั้งอุโมงค์ใต้ดินในเมืองและยกระดับนอกเมือง มี 3 เส้นทาง รวม 36 กม. ให้รฟม.ออกแบบเส้นทางนำร่อง สายสีแดง รพ.พิงค์-ศูนย์ราชการเชียงใหม่-สนามกีฬาสมโภช 700 ปี-ศูนย์ประชุมนานาชาติ-สถานีตำรวจช้างเผือก-แยกข่วงสิงห์-ม.ราชภัฏเชียงใหม่-สถานีขนส่งช้างเผือก-รพ.เชียงใหม่ราม-รพ.มหาราชนครเชียงใหม่-ร.ร.วัฒโนทัยพายัพ-สนามบินเชียงใหม่-ขนส่งทางบก-บิ๊กซีหางดง

รวม 12 สถานี ระยะทาง 12.54 กม. วงเงิน 28,727 ล้านบาท อุโมงค์ใต้ดินยาว 7.37 กม. เริ่มที่สถานีข่วงสิงห์-สนามบินเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อ่อนไหวต้องผ่านเมืองชั้นใน ย่านเมืองเก่าซึ่งต้องขุดดินลึก 10 เมตร ซึ่งอาจมีโบราณวัตถุและโบราณสถาน ส่วนระดับดิน 5.17 กม. ช่วง รพ.นครพิงค์-แยกข่วงสิงห์ และสนามบินเชียงใหม่-แยกแม่เหียะ

สายสีน้ำเงิน จากสวนสัตว์เชียงใหม่-แยกห้างพรอมเมนาดา 10 สถานี 10.47 กม. วงเงิน 30,399 ล้านบาท และสายสีเขียว แยกรวมโชค-สนามบินเชียงใหม่ 13 สถานี 11.92 กม. วงเงิน 36,195 ล้านบาท จะดำเนินการหลังสายสีแดงแล้วเสร็จ ซึ่ง รฟม.กำลังจ้างที่ปรึกษาทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และศึกษารูปแบบ PPP จะแล้วเสร็จปีหน้า และเสนอกระทรวงคมนาคมพร้อมให้คณะกรรมการ PPP พิจารณา

สำหรับ จ.นครราชสีมา เป็นรถไฟฟ้ารางเบาไลต์เรล วงเงิน 32,600 ล้านบาท มี 3 ระยะ ระยะที่ 1 ปี 2563-2565 วงเงิน 13,600 ล้านบาท มีสายสีส้ม แยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า 9.81 กม. 17 สถานี วงเงิน 8,400 ล้านบาท และสีเขียว จากตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ 11.17 กม. 18 สถานี วงเงิน 5,200 ล้านบาท

ระยะที่ 2 ปี 2566-2568 วงเงิน 4,800 ล้านบาท มีสายสีม่วงช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมิตรภาพ-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ 11.92 กม. 9 สถานี และระยะที่ 3 ส่วนต่อขยายสายสีส้ม สีเขียว และสีม่วง วงเงิน 14,200 ล้านบาท รฟม.จะจ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบ PPP คู่ขนานไปกับ EIA

จ.พิษณุโลก จะมี 3 รูปแบบคือรถโดยสารขนาดปกติ รถไมโครบัส และรถรางล้อยาง (tram) 8 เส้นทาง รวม 110.6 กม. วงเงิน 13,493 ล้านบาท ระยะที่ 1 ปี 2563-2565 มี 6 เส้นทาง รวม 80.5 กม. วงเงิน 3,206.57 ล้านบาท วิ่งเชื่อมในเมืองกับพื้นที่รอบนอกและสนามบิน เช่น สายสีแดง มหาวิทยาลัยพิษณุโลก-สถานีขนส่งแห่งที่ 2-แห่งที่ 1-วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ-ศาลากลาง-มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามทะเลแก้ว-หมู่บ้านพิษณุโลกเมืองใหม่ 12.6 กม. 15 สถานี เป็นรถ tram เป็นต้น ระยะที่ 2 ปี 2572-2574 มี 2 เส้นทาง และ 3 ส่วนต่อขยายอีก 30.1 กม. วงเงิน 911.42 ล้านบาท

รฟม.ตั้งสำนักงานลุยเวนคืน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า รฟม.จะตั้งสำนักงานที่ภูเก็ต และเชียงใหม่ เพื่อสำรวจเส้นทางและเวนคืนที่ดิน ส่วนการลงทุนจะให้เอกชนร่วมรูปแบบ PPP 30 ปี โดยรัฐลงทุนค่าเวนคืนและงานโยธา เอกชนลงทุนงานระบบและรถ กำลังศึกษารูปแบบที่เหมาะสม จะเป็นสัมปทานหรือ จ้างเดินรถ

“ภูเก็ตจะประมูล PPP เฟสแรก กลางปีหน้า 30,000 ล้านบาท เชียงใหม่ประมูล PPP สายสีแดง 12 กม. 35,000-40,000 ล้านบาท เพราะรวมศูนย์ซ่อมบำรุงด้วย จะสร้างทั้งใต้ดินและบนดิน ส่วนรถไฟฟ้าขอนแก่น รฟม.ได้ร่างพระราชกฤษฎีกาเสนอจะเป็นผู้ดำเนินการโครงการ แต่ท้องถิ่นคัดค้านเพราะต้องการทำโครงการเอง”

ขอนแก่นตั้งบริษัทลุยเอง

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยว่า LRT ขอนแก่น เป็นโครงการที่จัดทำโดย บจ.ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม (KKTS) ซึ่ง 5 เทศบาลของขอนแก่นร่วมจัดตั้ง ขณะนี้ได้หารือกระทรวงการคลังถึงรูปแบบการลงทุนที่ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน โดยส่งเอกสารให้พิจารณาแล้ว หาก คจร.เห็นชอบจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป จากนั้นจะประกาศเป็นวาระจังหวัด แล้วเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วางศิลาฤกษ์ในเดือน ธ.ค. 2561

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินงานอยู่ใน 3 ขั้นตอนสุดท้าย คือ 1.เข้าที่ประชุม สนข. 2.เร่งเรื่องการแลกเปลี่ยนที่ดินของเทศบาลกับกรมการข้าว ซึ่งเป็นที่ดินศูนย์สถานีวิจัยข้าว อยู่ตรงข้ามเซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น เนื้อที่ 216 ไร่ โดยขอใช้ 200 ไร่ ทำศูนย์ซ่อมบำรุง และพื้นที่พัฒนาเพื่อหารายได้ (TOD) หากไม่ทำ TOD ค่าโดยสารอยู่ที่ 25 บาท แต่ถ้าทำ ค่าโดยสารเพียง 15 บาท 3.พิจารณาว่าโครงการนี้ขัดกฎหมายอะไรหรือไม่

เล็งกู้เงินนอกลงทุน

ด้านนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้บริหาร บจ.ขอนแก่นพัฒนาเมือง กล่าวว่า LRT ขอนแก่น ไม่ได้ต้องการรับการอุดหนุนงบฯจากรัฐบาล แต่ต้องการให้ คจร.อนุมัติให้เทศบาลทั้ง 5 แห่ง เป็นผู้ดูแลและดำเนินโครงการรถไฟรางเบาคาดว่าใช้งบฯ 30,000 ล้านบาท คืนทุนใน 12 ปี แบ่งเป็นเงินระดมทุนจากชาวขอนแก่น 3,000-4,000 ล้านบาท ที่เหลือกู้ต่างประเทศ ได้แก่ จีน และประเทศในแถบยุโรป

โดยมีแผนให้ KKTS เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯใน 5-7 ปีข้างหน้า และจะให้สิทธิ์เกษตรกรที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยกว่า 800,000 คน ในขอนแก่น ซื้อหุ้นในราคาพาร์ โดยให้เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลที่แม้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ LRT โดยตรง ได้รับประโยชน์จากเงินปันผล รวมถึงที่ดิน 200 ไร่ ที่จะแลกกับกรมการข้าว จะแบ่งส่วนพัฒนาเป็นคอนโดฯสำหรับผู้มีรายได้น้อย ให้มีโอกาสได้อยู่กลางเมืองเดินทางได้สะดวก

นายชวลิต ประตูน้ำขอนแก่น ประธานกรรมการ บริษัท ประตูน้ำขอนแก่น จำกัด ศูนย์ค้าส่ง-ค้าปลีกเสื้อผ้า กล่าวว่า เตรียมทุ่มเงิน 30 ล้านบาท ทำอาคารและบันไดเลื่อนเชื่อมสถานี LRT ที่กำหนดสถานีประตูน้ำเป็นหนึ่งในทำเลที่รถไฟฟ้ารางเบาผ่าน จะทำให้ศูนย์การค้า ผู้ค้าและนักท่องเที่ยวได้รับอานิสงส์

BTS สนแจมภูเก็ต-เชียงใหม่

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS กล่าวว่า บริษัทสนใจจะเข้าไปลงทุนรถไฟฟ้ารางเบาในต่างจังหวัด เนื่องจากเป็นธุรกิจหลักของบีทีเอส ทั้งนี้ ขอดูรายละเอียดเงื่อนไขทีโออาร์ที่รัฐจะดำเนินการจะเป็น PPP รูปแบบไหน หากเป็น PPP net cost จะต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพราะเอกชนมีความเสี่ยง และไม่รู้ว่ารัฐจะใช้รูปแบบเดียวกับสายสีชมพูกับสายสีเหลืองที่จะสนับสนุนค่าก่อสร้างไม่เกินเพดานงานโยธาหรือไม่ ส่วน PPP gross cost เป็นการจ้างเดินรถระยะยาว จะดูในแง่ของโปรดักต์อย่างเดียว

“เราพร้อมจะลงทุน โดยเฉพาะภูเก็ตและเชียงใหม่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ปัจจุบันเราร่วมกับท้องถิ่นพัฒนาระบบบัตรแรบบิทรถโดยสารประจำทาง มีคอนเน็กชั่นที่จะขยายมายังรถไฟฟ้าด้วย”

https://www.prachachat.net/property/news-223034
See less See more
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุม คจร.วันนี้ (17 ต.ค.) จะมีการเสนอรายงานผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะเป็นรถไฟฟ้ารางเบา เส้นทางในแนวเหนือ-ใต้ (บ้านสำราญ ตำบลสำราญ-ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น) ระยะทางประมาณ 22.8 กม. วงเงิน 26,900 ล้านบาท

และผลการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก โดยมี 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 83.05 กม. มูลค่าก่อสร้าง 2,607 ล้านบาท โดยจะลงทุนสายสีแดง ระยะทาง 12.6 กม.ซึ่งเป็นรถรางล้อยาง (Auto Tram) วงเงิน 762 ล้านบาทก่อน ส่วนอีก 5 เส้นทางจะเป็นรูปแบบรถโดยสาร หรือไมโครบัส

16 ต.ค. 2561 https://mgronline.com/business/detail/9610000103529
See less See more
ลุยสร้างรถไฟฟ้าหัวเมืองใหญ่ เชียงใหม่ ภูเก็ต โคราช พิษณุโลก มูลค่า 1.8 แสนล้าน

วันที่ 17 ตุลาคม 2561 - 17:54 น.

รัฐบาลลุยสร้างรถไฟฟ้ารางเบาหัวเมืองใหญ่ เชียงใหม่ ภูเก็ต โคราช พิษณุโลก มูลค่า 1.8 แสนล้าน หวังเพิ่มความสะดวกการเดินทางให้กับชาวบ้านต่างจังหวัด

ลุยสร้างรถไฟฟ้าหัวเมืองใหญ่ – นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ว่า รับทราบความคืบหน้า การลงทุนระบบขนส่งในภูมิภาคทั้งหมด 1.8 แสนล้านบาท

ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้ารางเบาจ.ภูเก็ต โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังออกแบบรถไฟฟ้ารางเบา TRAM เส้นทางจากบ้านท่านุ่น จ.พังงา ถึง บริเวณห้าแยกฉลองภูเก็ต 58 ก.ม. มูลค่า 39,406 ล้านบาท เฟสแรกเริ่มจากสนามบินภูเก็ต ถึงห้าแยกฉลอง ระยะ 41 ก.ม. มูลค่า 30,154 ล้านบาท

เฟสแรกเริ่มจากสนามบินภูเก็ต ถึงห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.70 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 30,154.51 ล้านบาท เป็นทางวิ่งระดับพื้นดินตลอดแนวเส้นทาง ถนนเทพกษัตรีย์ ถนนศักดิเดชน์ และถนนเจ้าฟ้าตะวันออก จากนั้น ยกเว้นยกระดับที่สถานีสนามบิน สถานีใต้ดินที่สถานีถลาง มีจำนวนสถานีทั้งหมด 24 สถานี มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง และมีทางลอดรถไฟฟ้า 6 แห่ง หลังจาก ครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดพังงาและภูเก็ตได้

โครงการระบบขนส่งมวลชนจ.เชียงใหม่ มี 3 เส้นทางหลัก สายสีแดง 12 สถานี ระยะทาง 12 ก.ม. ลงทุน 28,726 ล้านบาท สายสีน้ำเงิน 13 สถานี 10 ก.ม. 30,399 ล้านบาท สายสีเขียว 10 สถานี 11 ก.ม. 36,195 ล้านบาท รวมทั้งโครงการ 95,321 ล้านบาท ใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเบา TRAM ให้ รฟม. ดำเนินการ สายสีแดงเป็นโครงการนำร่อง



โครงการระบบขนส่งสาธารณะเขตเมืองนครราชสีมา เป็นระบบรถไฟฟ้า LRT ระบบหลัก มี 3 เส้นทางหลัก สายสีเขียว 18 สถานี 11 ก.ม. 8,400 ล้านบาท สายสีส้ม 17 สถานี 9.81 ก.ม. 5,200 ล้านบาท สายสีม่วง 9 สถานี 7.14 ก.ม. 4,800 ล้านบาท รวม 28.12 ก.ม. ส่วนต่อขยายมี 3 เส้นทาง สีเขียว สีส้ม และสีม่วง 14,200 ล้านบาท รวมทั้งโครงการ 32,600 ล้านบาท รฟม. เป็นผู้รับผิดชอบ สายสีเขียวนำร่อง

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในจ.ขอนแก่น และอนุญาตให้จ.ขอนแก่นเป็นผู้พัฒนา และภาคเอกชนร่วมบริหารจัดการโครงการ เฉพาะเส้นทาง นำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ที่ สนข. ออกแบบรายละเอียดไว้แล้ว เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) 16 สถานี 22.8 ก.มง มูลค่า 26,963 ล้าน

ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบผลการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสม ระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก ให้รฟม.ดำเนินการ ประกอบด้วย 3 รูปแบบ รถโดยสารขนาดปกติ (Regular Bus) รถโดยสารขนาดเล็ก (Micro Bus) และรถรางล้อยาง (Auto Tram) ระยะที่ 1 จำนวน 6 เส้นทาง 80.5 กิโลเมตร ลงทุน 3,206 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี พ.ศ. 2563-2564 และเปิดให้บริการปี 256

ระยะที่ 2 จำนวน 2 เส้นทาง 30.1 ก.ม. ลงทุน 911.42 ล้านบาท ผลการศึกษาเฟสแรก เส้นทางสายสีแดง เป็นลำดับแรก ใช้ระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบรถรางล้อยาง (Auto Tram) มีจำนวนสถานีทั้งหมด 15 สถานีระยะทาง 12.6 ก.ม. วงเงินลงทุน 762.29 ล้านบาท

https://www.khaosod.co.th/economics/news_1700896
See less See more
ขอนแก่นเดินหน้าสร้างรถไฟฟ้าระยะทาง22.8กม.สายแรกระดับภูมิภาค

18 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลา 12:48 น.


18 ต.ค.61 - ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วยนายสันติ เหล่าบุญเสงี่ยม รอง ผวจ.ขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น และ นายเข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น ประชุมร่วมคณะทำงานเตรียมการและสนับสนุนดำเนินโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรางเบา หรือรถไฟฟ้า LRT หลังจากที่ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร.ครั้งที่ 2/2561 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานที่ผ่านมา (17 ต.ค.) มีมติเห็นชอบผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่นและผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ได้ศึกษาไว้ และอนุญาตให้ จังหวัดขอนแก่นเป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการโครงการตามแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองขอนแก่น

นายธีระศักดิ์ กล่าวว่า ทันทีที่มติที่ประชุมพิจารณาอนุมัติให้จังหวัดขอนแก่นดำเนินการก่อสรา้งรถไฟฟ้าระบบรางเบาสายแรกในระดับภูมิภาค ในเส้นทางนำร่อง สายสีแดง สำราญ-ท่าพระ ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร ตลอดแนวถนนมิตรภาพ รวมทั้งหมด 16 สถานี ซึ่งจะเป็นการก่อสร้างแบบยกระดับ 6 สถานีและระดับพื้นดิน 10 สถานี โดยเป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ คำสั่ง รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในภาพรวมทั้งหมด โดยมี สนข.ทำการออกแบบและศึกษารายละเอียดร่วมกันกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น จนได้ข้อสรุปต่า่งๆตามขั้นตจอนของกฎหมายและเสนอต่อที่ประชุม คจร.ได้รับทราบ

"ทันทีที่มติที่ประชุม คจร.เห็นชอบผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่นและผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่ สนข.ได้ศึกษา และอนุญาตให้จังหวัดขอนแก่นเป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการโครงการตามแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองขอนแก่น ในนามของคนขอนแก่นต้องขอขอบคุณรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ร่วมทำงานอย่างหนัก จากนี้ไปจะเป็นงานที่หนักเพิ่มขึ้นของคณะทำงาน โดยเฉพาะองค์ดกรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 5 แห่ง ที่รับผิดชอบในโครงการดังกล่าวนี้ประกอบด้วย เทศบาลนครขอนแก่น,เทศบาลตำบลท่าพระ,เทศบาลเมืองศิลา,เทศบาลตำบลเมืองเก่า และเทศบาลตำบลสำราญ ที่ได้มีการรวมตัวจัดตั้งและจดทะเบียนบริษัท ขอนแก่นทรานซิส ซิสเต็ม จำกัดเพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนโครงการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางเบา หรือ LRT"

นายก ทน.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงที่จะก่อสร้างมีทั้งหมด 16 สถานี ประกอบด้วย สถานีท่าพระ,สถานีกุดกว้าง,สถานี บขส.3,สถานีประตูน้ำ,สถานีแยกเจริญศรี,สถานีมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (บิ๊กซี),สถานีเซนเตอร์พ้อยท์,สถานีประตูเมือง(เซ็นทรัล),สถานีแยกสามเหลี่ยม,สถานีไทยสมุทร,สถานีโตโยต้ามอดินแดง,สถานี รพ.ศรีนครินทร์,สถานีมหาวิทยาลัยขอนแแก่น,สถานีโลตัสเอ็กตร้า,สถานีหนองกุง และ สถานีสำราญ โดยแต่ละสถานีจะอยู่ห่างจากกันประมาณ 3-4 กม. อย่างไรก็ตามตามแผนการดำเนินงานนั้นมั่นใจว่าจะสามารถวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างได้ภายในช่วงปลายปี 2561 และโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จอย่างช้าที่สุดคือต้นปี 2563

https://www.thaipost.net/main/detail/20199
See less See more
รถไฟฟ้าสายแรกของขอนแก่นเคาะที่ 15 บาทตลอดสาย

Dec 1, 2018


คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก มีมติก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาระดับภูมิภาคเส้นแรกของประเทศไทยระยะทาง 22.6 กม. ด้วยงบประมาณคนขอนแก่น พร้อมเคาะราคาเดินรถที่ 15 บาทตลอดสาย คาดใช้เวลาไม่เกิน 3 ปีสร้างเสร็จ
หลังจากที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. มีมติในการพิจารณาให้จังหวัดขอนแก่นนั้นดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT ในระดับภูมิภาคเป็นเส้นทางแรกของประเทศไทย ที่เป็นการก่อสร้างด้วยงบประมาณของคนขอนแก่น โดยไม่ได้ใช้งบประมาณหรือการสนับสนุนจากภาครัฐ ในเส้นทางรวม 22.6 กม. มูลค่าการลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท

ในขณะนี้มีความคืบหน้าในการดำเนินงานในด้านต่างๆ อย่างมาก และเป็นที่สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่จะมามีส่วนร่วมในการลงทุนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้ เพื่อที่จะให้การดำเนินงานที่เกิดขึ้นจากพลังของคนขอนแก่นนั้นสัมฤทธิ์ผลจนเป็นต้นแบบของการสร้างเมืองและการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นจากภาคประชาชน ประชาสังคมและสานพลังประชารัฐอย่างแท้จริง

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้ความหวังของคนขอนแก่นที่จะเห็นถึงความสำเร็จจากความตั้งใจจริงที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะร่วมพัฒนาเมืองขอนแก่น ให้กลายเป็นมหานครที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่งของไทยและเป็นที่รู้จักของนานาประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกับแนวทางการดำเนินงานในกานก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRTเส้นทางสายเหนือใต้ ตลอดแนว ถ.มิตรภาพระยะทาง 22.6 กม. โดยในขณะนี้ เทศบาลทั้ง 5 แห่งที่รับผิดชอบโครงการดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยเทศบาลนครขอนแก่น, เทศบาลเมืองศิลา, เทศบาลตำบลท่าพระ, เทศบาลตำบลสำราญ, และเทศบาลตำบลเมืองเก่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาเทศบาลของแต่ละแห่งนั้นได้รับทราบเพื่อยืนยันในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวต่อไป

ขณะเดียวกันทุกฝ่ายยังรอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาอนุมัติพื้นที่ภายในศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น ในการพิจารณาพื้นที่ดังกล่าวให้กับคณะทำงานตามที่ได้มีการนำเสนอแผนงานที่จะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สถานี และพื้นที่เชิงพาณิชย์หรือ TOD ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับการพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายในเร็วๆ นี้

เมื่อคณะทำงานได้รับการพิจารณาอนุมัติพื้นที่จากทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจุดดังกล่าวแล้ว จะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างทันที เนื่องจากทุกอย่างพร้อมโดยทั้งหมดแล้ว แต่ยังคงรอความชัดเจนเรื่องที่ดินเพื่อจะได้ปรับแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่ได้รับมอบโดยเฉพาะแบบการก่อสร้างคอนโดมิเนียม ที่เน้นไปในกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางถึงระดับฐานราก ซึ่งแปลว่าคอนโดมิเนียมนั้นไม่ใช่แต่เฉพาะคนรวยเท่านั้นที่มีสิทธิ์แต่ทุกคนนั้นมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน


ขณะเดียวกันในพื้นที่ TOD ดังกล่าวจะมีการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแก้มลิง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม เขต ถ.ศรีฐานและ ถ.มิตรภาพ ขณะการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในพื้นที่สถานีต่างๆนั้นจะมีการพัฒนาที่สอดรับสภาพของแต่ละสถานี ไม่ว่าจะเป็นการตั้งบูธจำหน่ายสินค้า การตั้งช็อปร้านค้าต่างๆ และการให้บริการพื้นที่โฆษณา ซึ่งทั้งหมดคณะทำงานได้เตรียมแผนการดำเนินงานไว้ทั้งหมดแล้วเช่นกัน

นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวต่อว่า ในเรื่องของงบประมาณในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวยืนยันว่าไม่ได้ใช้งบประมาณของหน่วยงานภาครัฐแต่อย่างใด แต่เป็นไปในรูปแบบของการระดมทุน ซึ่งขณะนี้แผนงานดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว รวมทั้งการขอสินเชื่อจากสถาบันทางการเงิน โดยมีบริษัท เคเคทีเอส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทั้ง 5 เทศบาลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย เป็นบริษัทในการดำเนินงานทั้งในเรื่องของการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน การระดมและการขายหุ้นทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค


โดยเฉพาะกับการให้คนขอนแก่นนั้นร่วมเป็นเจ้าของด้วยการให้คนขอนแก่นนั้นสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาพาร์ เมื่อทุกอย่างลงตัวและเริ่มดำเนินการนั้น คณะทำงานจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างทันทีทั้งเส้น คือ 22.6 กม. โดยจะเป็นการก่อสร้างพร้อมกันทั้งเส้นทางและต้องเสร็จพร้อมกันทั้งเส้นทาง โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างจนเปิดใช้งานได้ในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี

อย่างไรก็ตามสำหรับราคาค่าโดยสารนั้นมีการพิจารณาผลการศึกษาแล้วและกล้าประกาศว่ารถไฟฟ้าเส้นทางสายนี้คิดค่าค่าโดยสารตามผลการศึกษาคือ 15 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นราคาที่คุ้มทุนและเป็นราคาที่สามารถที่จะดำเนินการได้ และเมื่อการก่อสร้างเฟสแรกระยะทาง 22.6 กม.แล้วเสร็จคณะทำงานจะพิจารณาการก่อสร้างในเฟสที่ 2 คือส่วนต่อขยายๆเข้าไปในสถานีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถานีศูนย์วิจัยข้าว หรือ TOD ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานที่คณะทำงานได้ใช้รูปแบบสานพลังประชารัฐ มาเป็นแนวทางของการพัฒนาเมืองขอนแก่น แห่งนี้

https://voicetv.co.th/read/BkfDHoJkE
See less See more
'ขอนแก่น' ที่ดินพุ่งเท่าตัว! รับ "รถไฟฟ้ารางเบา" ตอกเข็ม - บิ๊กทุนตบเท้าพรึบ

9 December 2018

ที่ดินขอนแก่นพุ่งเท่าตัว! รับ "รถไฟฟ้ารางเบา" สายแรก เส้นผ่าเมือง ดันทำเลรอบถนนมิตรภาพฮอต ที่ใกล้ มข. วิ่งไปแล้วสูงกว่า 20 ล้านต่อไร่ บิ๊กทุนตบเท้าขึ้นคอนโดฯ พรึบ "อนันต์ อัศวโภคิน" ซื้อที่ดัก 50 ไร่ ลุยเทอร์มินอล 21

"ขอนแก่นโมเดล" เกิดจากการรวมพลังระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนในพื้นที่ ลงขันตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) จำกัด ด้วยวงเงิน 200 ล้านบาท ผลักดันให้เกิดโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบาไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการพึ่งพางบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาล

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา จ.ขอนแก่น ว่า ปลายปีนี้จะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงเสาเอกต้นแรกของโครงการ คาดว่าปี 2563 สามารถเปิดให้บริการได้

สำหรับโครงการรถไฟฟ้ารางเบา สายเหนือ-ใต้ (สำราญ-ท่าพระ) มีระยะทาง 26 กิโลเมตร และมีจำนวนสถานี 18 สถานี แนวเส้นทางจะวิ่งจากเทศบาลตำบลสำราญ-เทศบาลตำบลท่าพระ เลี้ยวเข้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น

ส่งผลให้ถนนมิตรภาพกลายเป็นทำเลทองใหม่ ขณะราคาที่ดินขยับสูงกว่าเท่าตัว โดยเฉพาะบริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่น ราคาที่ดินซื้อขายสูงเกินกว่า 20 ล้านบาทต่อไร่ ปัจจุบันมีการจับจองเต็มพื้นที่ อีกทำเลที่น่าจับตา คือ รอบบึงแก่นนคร ขณะนี้ราคาขยับกว่า 10 ล้านบาทต่อไร่

"ราคาที่ดินใน จ.ขอนแก่น ถือว่าแพงที่สุดในภาคอีสาน ตัวอย่าง ถนนศรีจันทร์ ราคาซื้อขายสูงสุดตารางวาละกว่า 2 แสนบาท ซึ่งไม่ต่างจากกรุงเทพมหานคร อนาคตจะปรับตัวสูงขึ้นหากรถไฟฟ้าเปิดใช้เส้นทาง"





ส่วนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า จะมีทั้งของ บริษัท พัฒนาเมือง ได้กำหนดไว้ 200 ไร่ และส่วนที่เป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งกำหนดให้เป็นย่านอยู่อาศัยและพาณิชยกรรม

ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการทั้งในพื้นที่และจากส่วนกลางซื้อที่ดินดักรอพัฒนารอบสถานีรถไฟฟ้าตลอดแนว อาทิ นายอนันต์ อัศวโภคิน ซื้อที่ดิน 50 ไร่ รอพัฒนาห้างเทอร์มินอล 21 ขณะคอนโดมิเนียมเริ่มเกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะรอบมหาวิทยาลัยขอนแก่นและใกล้ห้างเซ็นทรัล

แหล่งข่าวจากเทศบาลนครขอนแก่น เสริมว่า โครงการดังกล่าวเกิดจากการรวมตัวระหว่าง 5 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลตำบลสำราญ เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลท่าพระ ร่วมกันให้ บริษัท เคเคทีเอสฯ ที่เข้ามาดำเนินการภายใต้การควบคุมของ 5 เทศบาล


ทั้งนี้ รถไฟฟ้าเส้นนี้สร้างความคึกคักให้กับพื้นที่อย่างมาก ราคาที่ดินขยับสูงขึ้น ตั้งแต่ทางตอนเหนือ-ตอนใต้ของถนนมิตรภาพ ผ่านมหาวิทยาลัยขอนแก่น สำหรับแนวรถไฟฟ้าจะผ่านห้างเซ็นทรัล บิ๊กซี โค้วยู่ฮะ ประตูนํ้า ศูนย์ประชุมนานาชาติเคไอซีอี จุคนได้เป็นหมื่นราย และวิ่งไปถึงท่าพระ เป็นศูนย์รวมท่าเรือบกรวมระยะ 22 กิโลเมตร

"ทำเลท่าพระจะเป็นศูนย์รวมคลังสินค้า อยู่ในเขตอำเภอเมือง ราคาที่ดินแตะไม่ได้ บริเวณถนนมิตรภาพ ราคา 10 ล้านบาทต่อไร่ โดยเฉพาะบึงแก่นนคร"

สำหรับความสำเร็จของการตั้ง บริษัท พัฒนาเมือง นอกจากพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบาแล้ว ยังเน้นการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าและศูนย์ประชุมนานาชาติ โดยใช้ขนส่งมวลชนเป็นตัวนำ ทั้งนี้ ในการพัฒนาพื้นที่อย่างเหมาะสมในแนวสายรถไฟฟ้ารางเบา ทางโครงการจะขอใช้พื้นที่จากทางรัฐบาล และพัฒนาเป็นสวนสาธารณะและบึงขนาดใหญ่ เพื่อจัดสรรให้เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับกระทรวงเกษตรฯ


"ท่าพระ-มข." บ้าน-คอนโดฯ ขายดี

ทำเลท่าพระ - ม.ขอนแก่น แนวรถไฟฟ้าฮอต ศูนย์ข้อมูล ธอส. ระบุ บ้านจัดสรร-คอนโดฯ เปิดขายถล่มตลาดพรึบ แหล่งข่าวจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุว่า จากการขยับตัวของโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟฟ้ารางเบาสายแรก ส่งผลให้ความคึกคักของที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นใน จ.ขอนแก่น

โดยพบว่า มีโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย จำนวน 68 โครงการ มีหน่วยในผังของทุกโครงการรวมกัน 7,541 หน่วย มูลค่าโครงการรวม 26,991 ล้านบาท มีหน่วยเหลือขายในตลาด 2,670 หน่วย แบ่งเป็น โครงการบ้านจัดสรร จำนวน 57 โครงการ มีจำนวนหน่วย 5,358 หน่วย มูลค่าโครงการรวม 21,758 ล้านบาท

มีหน่วยเหลือขาย 2,111 หน่วย โครงการคอนโดมิเนียม จำนวน 11 โครงการ มีจำนวนหน่วย 2,183 หน่วย มูลค่ารวม 5,234 ล้านบาท มีหน่วยเหลือขาย 559 หน่วย โดยราคาขายบ้านเดี่ยวอยู่ที่ 3-5 ล้านบาท ทาวน์เฮาส์ 2-3 ล้านบาท ขณะคอนโดมิเนียมเฉลี่ย 1.5-2 ล้านบาทต่อหน่วย

ขณะทำเลขายดี ส่วนใหญ่อยู่ในแนวรถไฟฟ้ารางเบา อันดับ 1 ได้แก่ ทำเลท่าพระ รองลงมา คือ ทำเลมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามด้วยทำเลกสิกร-ทุ่งสร้าง ทำเลบึงหนองโคตร และทำเลบึงแก่นนคร ตามลำดับ เช่นเดียวกับคอนโดมิเนียมที่ขายดี ได้แก่ ทำเลบึงหนองโคตร ทำเล ม.ขอนแก่น ทำเลกสิกร-ทุ่งสร้าง และทำเลบึงแก่นนคร ตามลำดับ

รายงาน หน้า 31 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3425 ระหว่างวันที่ 9 - 12 ธันวาคม 2561

http://www.thansettakij.com/content/358191
See less See more
ช ทวี พร้อมประมูลแทรมขอนแก่น

2018-12-17

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคมว่า ในฐานะภาคเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้มาแสดงความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ในจ.ขอนแก่น ที่เตรียมเปิดประมูลได้เสนอกระทรวงคมนาคม ถึงการนำเอาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ มาพัฒนาประกอบผลิตและประกอบรถไฟฟ้าในประเทศจะช่วยจะลดต้นทุนการนำเข้าได้มาก และจะช่วยสร้างงานให้คนในประเทศเพิ่มขึ้น เบื้องต้นบริษัทเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการผลิตรถไฟฟ้าในขอนแก่นแล้ว ทั้งโรงงาน และการเจรจาชิ้นส่วนกับต่างประเทศ รวมถึงบุคลากร

นายสุรเดช กล่าวต่อว่า บริษัทจะเข้าร่วมประมูลรถไฟฟ้ารางเบา จ.ขอนแก่นทั้งหมด โดยแบ่งการร่วมทุนออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ร่วมกับบริษัทรับเหมาของประเทศจีน และ 2. ร่วมกับบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัดขณะนี้คงต้องรอกระบวนการของทางจังหวัดขอนแก่นว่าจะเริ่มกระบวนการประมูลที่ชะลอเอาไว้ หรือจะเริ่มเปิดประมูลใหม่ เบื้องต้นคาดว่าไม่เกินเดือน ก.พ.62 น่าจะเริ่มต้นขั้นตอนประมูล และเริ่มก่อสร้างโครงการดังกล่าวได้ทันทีภายในปีหน้า

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า รัฐบาลกำลังสนับสนุนศักยภาพของเอกชนไทยให้สามารถผลิตและประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ และรถไฟฟ้าในประเทศเองได้โดยเฉพาะระบบราง เพราะปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาโครงสร้างระบบรางให้เป็นการขนส่งหลักของประเทศ เคยมีผลการศึกษาพบว่าหากไทยสามารถผลิตและประกอบรถไฟฟ้าเองได้ จะลดต้นทุนซ่อมบำรุง และค่าขนส่งรถไฟฟ้าได้ประมาณ 20% ของมูลค่ารถไฟฟ้า รวมทั้งยังช่วยสร้างงาน กระตุ้นระบบเศรษฐกิจ และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในประเทศ

ผู้สื่อข่าวรรายงานว่า โครงการรถไฟฟ้ารางเบา จ.ขอนแก่น คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้เห็นชอบให้จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้พัฒนาและบริหารโครงการเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยอนุมัติให้พัฒนาเส้นทางสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ใน จ.ขอนแก่น ระยะทาง 22.8 กม.มูลค่าลงทุน ราว 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัท ขอนแก่นทรานซิส ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) จะเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนโครงการ พร้อมทั้งนำผลการศึกษาโครงการไปเจรจาเรื่องแหล่งเงินกู้

สำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) มีทั้งหมด 2 สัญญา ได้แก่ KK1 งานจ้างเหมาออกแบบและก่อสร้างงานโยธาและโครงสร้าง พร้อมทั้งผลิตและติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารรางเบา ประเภทรถราง และการพัฒนาเมือง (Transit Oriented Development: OTD) และ KK 2 งานจ้างเหมาปฏิบัติการเดินรถ การบำรุงรักษา และการบริหารจัดการพื้นที่สถานี และส่วนที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลา 30 ปี

โดยก่อนหน้านี้ KKTS ได้ให้เอกชนยื่นข้อเสนอตั้งแต่ปลายปี 60 แต่ชะลอการเปิดซองข้อเสนอไว้ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะให้ใครเป็นผู้บริหารโครงการ โดยพบว่าการเปิดขายซองครั้งดังกล่าว มีเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วมซื้อซองมากกว่า 10 ราย และมีเอกชนยื่นซองประมูลสัญญาละ 1 ราย

https://www.dailynews.co.th/economic/683041
See less See more
รถไฟฟ้าขอนแก่นสร้าง มิ.ย.นี้ 2 ปีเสร็จ ต้นแบบสายแรกท้องถิ่นลุยเอง

2019-02-07

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ขอนแก่น ช่วงสำราญ-ท่าพระ ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 26,000 ล้านบาทว่า อยู่ระหว่างเจรจาขอใช้พื้นที่เขตทางของกรมทางหลวง (ทล.) คาดว่าจะเปิดประมูลและได้ผู้รับเหมาก่อสร้างประมาณกลางปี หรือ มิ.ย.62 จากนั้นจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี ให้แล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการประชาชนประมาณต้นปี 65 ทั้งนี้บริษัทขอนแก่นทรานซิทซิสเต็ม (เคเคทีเอส) มีแผนจะนำโครงการเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนด้วย




นายสุรเดช กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการมี 16 สถานี ค่าโดยสารอยู่ระหว่างกำหนดรายละเอียด เบื้องต้นคาดว่าจะมีราคาแพงกว่ารถสองแถวแค่ 5 บาท เช่นค่ารถสองแถว 5 บาท ค่ารถไฟฟ้าจะ 10 บาท เป็นต้น แต่เก็บสูงสุดตลอดสายไม่เกิน 20 บาท เพราะค่าโดยสารถือเป็นเรื่องสำคัญ หากแพงเกินไปจะไม่มีคนใช้บริการ อีกทั้งเมื่อกำหนดว่าเป็นระบบขนส่งมวลชนต้องทำให้คนทุกระดับสามารถใช้บริการได้ทุกคน นอกจากนี้ยอมรับว่าการสร้างระบบขนส่งมวลชนเป็นบริการสาธารณะที่ไม่ได้มีกำไร เพราะโครงการนี้ผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 2% แต่มีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ผลตอบแทนอยู่ที่ 10%

นายสุรเดช กล่าวอีกว่า ขณะนี้เริ่มมีบริษัทหลายราย ทั้งไทยและต่างชาติ อาทิ ยุโรป และ จีนให้ความสนใจลงทุนแล้ว โครงการแทรมขอนแก่นนี้ถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าแทรมจังหวัดแรกในไทยที่ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการเองโดยไม่ต้องพึ่งภาครัฐ ซึ่งโครงการนี้จะไม่ได้แค่ช่วยแก้ปัญหารถติดขอนแก่นเท่านั้น แต่ยังสร้างความมั่งคั่งให้ขอนแก่นมีกระเป๋าเงินเป็นของตนเอง เพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นด้านต่างๆ ในขอนแก่นต่อไป โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของภาครัฐ ที่สำคัญยังเป็นโครงการประชารัฐแบบเข้มข้นด้วย หากทุกจังหวัดสามารถดำเนินการในลักษณะนี้ได้จะช่วยประเทศไทยให้มีการพัฒนาในทุกๆ ด้านได้รวดเร็วมากขึ้น

https://www.dailynews.co.th/economic/691927
See less See more
" แทรมขอนแก่น" ใช้200 ไร่พัฒนาTOD

2019-05-07


นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ขอนแก่น ช่วงสำราญ-ท่าพระ ระยะทาง 22.8 กม. วงเงิน 26,963 ล้านบาทว่า อยู่ระหว่างนัดประชุมกับกรมการข้าว เพื่อเจรจาขอใช้พื้นที่ศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น 200 ไร่ พัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี (TOD) โดยก่อนหน้านี้ได้นำเสนอเสนอเรื่องดังกล่าวผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว คาดว่าจะประชุมได้เร็วๆ นี้ เมื่อเจรจากับกรมการข้าวได้ข้อยุติจากนั้นจะลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) 4ฝ่าย ประกอบด้วย กรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ดำเนินการขอใช้พื้นที่ เทศบาลนครขอนแก่น และ จ.ขอนแก่น

โดยคณะทำงานที่ทางจังหวัดแต่งตั้งขึ้นในการใช้พื้นที่ดังกล่าว จากนั้นดำเนินด้านเอกสารการขอใช้พื้นที่ต่อไป
นายธีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างนั้น ภายหลังผลการศึกษาแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างปรับปรุงผลการศึกษาให้เป็นปัจจุบัน เนื่องจากช่วงที่ศึกษายังไม่มีโครงการสำคัญเกิดขึ้นใน จ.ขอนแก่น เช่น การขยายสนามบินขอนแก่น การย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสาร และ โครงการก่อสร้างท่าเรือบก

ซึ่งโครงการเหล่านี้จะช่วยเสริมความน่าจำเป็นและความสมบูรณ์ของโครงการรถไฟฟ้ารางเบาขอนแก่นมากขึ้น โดยตั้งเป้าคาดว่าสิ้นปี 62 จะสามารถเปิดประมูลหาเอกชนที่จะมาก่อสร้างโครงการได้ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จากนั้นต้นปี 63 จะเริ่มก่อสร้าง โดยใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี 6 เดือน ถึง 3 ปีจะแล้วเสร็จเปิดใด้ระหว่างปี65-66

นายธีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า โบกี้ของรถรางมือสอง จำนวน 1 โบกี้ที่ทางเทศบาลเมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่นได้มอบให้มาถึงขอนแก่นเมื่อเดือน มี.ค.62 โดยเปิดให้ประชาชนเยี่ยมชมแล้ว อยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เพื่อไว้ศึกษาตัวรถ สร้างระบบรางและทดลองวิ่งภายในมหาวิทยาลัยก่อนและทดลองวิ่งให้บริการประชาชนรอบบึงแก่นนครมีระยะทาง 4 กม. ตลอนจนทำโครงการขอสนับสนุนประมาณควบคู่ด้วย

อย่างไรก็ตามคาดว่าผลการศึกษาแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 62 จากนั้นจะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน จ.ขอนแก่น เกี่ยวกับการนำแทรมน้อยมาวิ่งให้บริการรอบบึงแก่นนคร หากประชาชนเห็นชอบจะเปิดวิ่งบริกา

https://www.dailynews.co.th/economic/707736
See less See more
โครงการสำคัญที่ยังชะลอตัวอยู่ คือ การก่อสร้างระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) มีปัญหาอยู่ 2 เรื่อง คือ

1.ที่ดินที่จะเป็นพื้นที่โดยรอบสถานี หรือจุดจอด transit oriented development (TOD) ของ LRT ที่จะขอใช้ที่ดินจากกรมการข้าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการต่อรองแลกเปลี่ยน

2.การขอใช้เกาะกลางถนนมิตรภาพ ซึ่งจะเป็นเส้นทางของรถไฟฟ้า LRT สายแรก ระยะทาง 22.6 กิโลเมตร โดยกรมทางหลวงได้ตอบประสานงานเบื้องต้นแล้ว แต่จะต้องแก้จุดตัดเสาไฟฟ้าร่วมกับเทศบาล และโครงการยังเปิดกว้างสำหรับผู้ลงทุน

7/6/2562 https://www.prachachat.net/local-economy/news-335975
See less See more
ดัน"แทรมขอนแก่น"เข้า คจร. ก่อสร้างปีหน้า-เปิดปี67 เดือนนี้รู้ผลผู้ชนะประมูล

Dailynews 3/1/2563

พลตรีชาติชาย ประดิษฐ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ขอนแก่นทรานซิทซิสเต็ม จำกัด หรือ KKTS เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ขอนแก่น ช่วงสำราญ-ท่าพระว่า อยู่ระหว่างปรับแก้ผลการศึกษาเล็กน้อย คาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาในเดือน ม.ค.63

แต่ระหว่างนี้ได้เริ่มขั้นตอนหาผู้รับเหมาคู่ขนานกันไปด้วย เพื่อจะได้เริ่มการก่อสร้างทันทีเมื่อผ่านความเห็นชอบจาก คจร. ทั้งนี้ KKTS ได้ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง 3 งาน ได้แก่

1.KK-1 งานเหมาออกแบบ และก่อสร้างงานโยธา และโครงสร้าง พร้อมทั้งการผลิต ติดตั้งระบบแทรม และการพัฒนาเมือง

พลตรีชาติชาย กล่าวต่อว่า

2.KK-2 งานจ้างเหมาปฏิบัติการเดินรถ บำรุงรักษา บริหารจัดการพื้นที่สถานี และการพัฒนาเมือง และ

3.KK-3 งานจ้างที่ปรึกษาอิสระ ควบคุม รับรอง และการพัฒนาเมือง ซึ่งขณะนี้ได้ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติงาน KK-1 และ KK-2 แล้ว โดยงาน KK-1 ได้แก่ กิจการร่วมค้าซีเคเคเอ็ม (CKKM Joint Venture) และงาน KK-2 ได้แก่ นิติบุคคลร่วมทำงาน เคแอลอาร์ทีที (KLRTT Consortium)

ทั้งนี้ยังเป็นเพียงแค่การพิจารณาคุณสมบัติ เหลือการพิจารณาด้านเทคนิค, ราคา และการเงิน คาดว่าจะเสร็จสิ้นทั้งหมด และรู้ผลผู้ผ่านการคัดเลือก ในเดือน ม.ค.63 แต่ทั้งนี้จะยังไม่มีผลผูกพันระหว่างกันจนกว่าจะมีการทำสัญญา

พลตรีชาติชาย กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ KKTS ได้ประกาศเชิญชวนอย่างกว้างขวาง และทำหนังสือเชิญโดยตรงกับเอกชนหลายรายให้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้าง โดยขณะนั้นมีเอกชนมาซื้อซองเอกสารการประกวดราคา(ทีโออาร์) กว่า 20 ราย

แต่ปรากฏว่าเมื่อเปิดให้มายื่นข้อเสนอกลับมีเอกชนมายื่นเสนอเพียงรายเดียว ซึ่งแม้จะมีรายเดียวก็สามารถพิจารณาได้ แต่ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมตามเกณฑ์ที่กำหนด ไม่ได้ถือเป็นการล็อกสเปคแต่อย่างใด ส่วนงาน KK-3 ได้ผู้ผ่านการคัดเลือกแล้ว ได้แก่ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา WCE

พลตรีชาติชาย กล่าวด้วยว่า เวลานี้ต้องรอให้การเจรจาขอใช้ที่ดินของศูนย์วิจัยข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะใช้ทำเป็นศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) รวมถึงการขอใช้เขตทางจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการหารือกับสถาบันการเงินให้เรียบร้อยก่อน

ซึ่งแต่ละเรื่องต้องอาศัยเวลาในการพิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี และเริ่มก่อสร้างได้เดือน ม.ค.64 จากนั้นจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี โดยปี 67 น่าจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการได้ สำหรับโครงการแทรม จ.ขอนแก่น มีระยะทาง 26 กิโลเมตร(กม.) 20 สถานี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องต้นเส้นทางเดินรถของโครงการแทรม จ.ขอนแก่น ช่วงสำราญ-ท่าพระ มี 20 สถานี ประกอบด้วย 1.สถานีท่าพระ 2.สถานีกุดกว้าง 3.สถานี บขส.3 4.สถานีประตูน้ำ 5.สถานีแยกเจริญศรี 6.สถานีบิ๊กซีขอนแก่น 7.สถานีเซ็นเตอร์พ้อยท์ 8.สถานีแยกประตูเมือง (เซ็นทรัล) 9.สถานีแยกสามเหลี่ยม 10.สถานีไทยสมุทร 11.สถานีโตโยต้าขอนแก่น 12.สถานีโรงพยาบาลศรีนครินทร์ 13.สถานีมหาวิทยาลัยขอนแก่น 14.สถานีโลตัสเอ็กซ์ตร้า 15. สถานีหนองกรุง 16.สถานีบ้านสำราญ ส่วนอีก 4 สถานี เป็นสถานีที่เข้า ม.ขอนแก่น และศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น
See less See more
“ขอนแก่น” เร่ง LRT ลุ้นชัดเจนปลายปี’63

วันที่ 2 มีนาคม 2563

เร่งโครงการ - บริษัท KKTS เร่งร่างเจรจาโครงการนำร่องรถไฟฟ้า LRT สายแรกของจังหวัดขอนแก่น และรออนุมัติผลการศึกษาใหม่ เพราะมีการขยายสนามบินขอนแก่น โรงพยาบาล มีโครงการรถไฟรางคู่และท่าเรือบก มีสถานกงสุลจากต่างประเทศที่จะเข้ามาตั้งอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก คาดว่าจะสามารถลงเสาเข็มได้กลางปี 2563
บริษัท KKTS เร่งร่างสัญญาเจรจาโครงการนำร่องรถไฟฟ้า LRT สายแรกของจังหวัดขอนแก่น นำโดย CKKM Joint Venture และ KLRTT Consortium ชี้ CDB (China Development Bank) สนใจลงทุน 22,000 ล้านบาท พร้อมทบทวนผลการศึกษา สนข.รออนุมัติ 21 สถานี คาดเห็นความชัดเจนปลายปี”63 แต่ยังไม่คอนเฟิร์ม

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น เปิดเผยว่า สำหรับโครงการสร้างรถไฟฟ้า LRT สายสีแดงสายแรกของขอนแก่น เร็วที่สุดคาดว่าจะสามารถลงเสาเข็มได้กลางปี 2563 แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องรอให้ KKTS ดำเนินการให้เสร็จก่อน ไม่ว่าจะเป็นมติเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. เกี่ยวกับการศึกษาสถานีเพิ่มเติมจาก 16 สถานี เป็น 21 สถานี ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ และต้องรออนุมัติที่ดินจากกรมการข้าวที่จะนำมาพัฒนา แต่ยังไม่มีความคืบหน้า รวมไปถึงสัญญาจากผู้ประมูลรับจ้างโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จ และรายละเอียดของโครงการต้องศึกษาเพิ่มเติมเข้าไปด้วย


“ตอนนี้เปิดประมูลรับจ้างดำเนินการแล้วและยังไม่เซ็นสัญญาจนกว่าที่ดินที่เราจะมาพัฒนาได้รับอนุมัติ เราขอความอนุเคราะห์สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีความคืบหน้า หลังจากที่ศึกษาเพิ่มเติมและได้เพิ่มสถานี ได้เปิดรับฟังความเห็นของประชาชนแล้วเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ เราจึงจะเอาผลการศึกษาเพิ่มเติมนี้เสนอกลับไปยัง คจร. ตอนนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอขอความเห็นชอบ”

สำหรับการทบทวนโครงการ พลตรีชาติชาย ประดิษพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ขอนแก่นทรานซิทซิสเต็ม จำกัด หรือ KKTS เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ได้รับแผนแม่บทโครงการ LRT ขอนแก่นทั้ง 5 สายจาก สนข. และให้ KKTS นำร่องดำเนินโครงการสายสีแดงเป็นสายแรก พบว่าเป็นผลการศึกษาตั้งแต่ปี 2560 ก่อนได้รับอนุมัติปี 2561 กระทั่งปี 2562 มีการเปลี่ยนแปลงไปหลายด้าน จึงจำเป็นต้องทบทวนผลการศึกษาใหม่ในส่วนรายละเอียดประกอบ เช่น มีการขยายสนามบินขอนแก่น ขยายโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีโครงการรถไฟรางคู่และท่าเรือบก มีสถานกงสุลจากต่างประเทศที่จะเข้ามาตั้งอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา เปรู ฝรั่งเศส เป็นต้น รวมไปถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต

ประเด็นที่ได้ทบทวนเพิ่มคือ 1) ด้วยเหตุผลข้างต้นจำนวนประชากรผู้ใช้บริการจาก 2 หมื่นกว่าคน จะเพิ่มขึ้นเป็น 5-6 หมื่นคน 2) ศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถ เดิมอยู่ทางทิศเหนือตำบลสำราญ หากสายแรกดำเนินการสำเร็จและเริ่มก่อสร้างอีก 4 สาย จะต้องหาศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถใหม่ จึงเป็นเหตุให้เลือกพื้นที่บริเวณกรมการข้าวแทน และยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ได้ 3) การเพิ่มสถานีจากเดิม 16 สถานี เป็น 21 สถานี เพราะต้องรองรับผู้คนที่เข้าไปใช้บริการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ รวมทั้งบุคลากรนิสิตนักศึกษาของ มข.ที่มีร่วมอยู่ 4-5 หมื่นคน

ฉะนั้น หลังจากทบทวนเรียบร้อยแล้วและได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อไป คือ นำประเด็นที่ทบทวนแล้วส่งถึง สนข. เพื่อให้ คจร.อนุมัติอีกครั้ง ขณะเดียวกันต้องเตรียมการร่างสัญญาผู้รับเหมาก่อสร้างไปด้วย แม้ยังไม่มีการเซ็นหรือผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้น นำโดยทุนไทยคือ 1.สัญญาการก่อสร้างและจัดซื้ออุปกรณ์งานระบบ โดย CKKM Joint Venture 2.สัญญาการเดินรถ ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจา กลุ่มที่ได้ไป คือ KLRTT Con-sortium รวมทั้ง 2 สัญญา มูลค่าประมาณ 22,000 ล้านบาท ซึ่งมีข้อเสนอทางการเงินมาด้วยการหาแหล่งเงินให้ โดยเจ้าแรกที่กำลังคุยกันอยู่ตอนนี้คือ (CDB) China Development Bank เป็นแบงก์จากประเทศจีน และยังเปิดรับข้อเสนอจากแบงก์อื่นเพิ่มเติมอีกในอนาคต

“หากสัญญาร่างเสร็จยังไม่เกิดการผูกพันเกิดขึ้น เพราะผลการศึกษาใหม่ที่ส่งทบทวนต้องได้รับอนุมัติก่อน รวมไปถึงเรื่องการส่งมอบที่ดินจากกรมการข้าว การส่งมอบเขตทางกรมทางหลวง เป็นต้น ตอนนี้ต้องดูร่างสัญญาและตกลงกันให้ได้เพื่ออนุมัติจากทางรัฐบาล และต้องรอบคอบทำงานอย่างรัดกุม คาดการณ์ว่าการเจรจาและสัญญาต่าง ๆ รวมถึงการกู้เงินน่าจะใช้เวลาถึงปลายปีจึงจะเห็นเป็นรูปร่าง และสิ่งที่รอการอนุมัติจากภาครัฐน่าจะชัดเจนปลายปี หากเป็นไปตามนี้จะสามารถเซ็นสัญญาและก่อสร้างได้ในปี 2564 แต่ก็ยังไม่รับปากเพราะมีองค์ประกอบหลายอย่าง หากเซ็นสัญญาแล้ว แต่ส่งมอบที่ดินเพื่อก่อสร้างไม่ได้ก็จะเป็นปัญหา”

ด้านนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ขอนแก่น ช่วงสำราญ-ท่าพระ ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 26,000 ล้านบาท ว่าอยู่ระหว่างเจรจาขอใช้พื้นที่เขตทางของกรมทางหลวง (ทล.) คาดว่าจะเปิดประมูลและได้ผู้รับเหมาก่อสร้างประมาณกลางปี หรือเดือน มิ.ย. 2563 จากนั้นจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี ให้แล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการประชาชนประมาณต้นปี 2565 ทั้งนี้ บริษัท ขอนแก่นทรานซิทซิสเต็ม (KKTS) มีแผนจะนำโครงการเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนด้วย

https://www.prachachat.net/local-economy/news-426915
See less See more
”แทรมขอนแก่น”ก่อสร้างกลางปี 64

Dailynews 8/7/2563

*KKTSรอเคลียร์สารพัดปัญหารุมเร้า
*ทบทวนผลศึกษาเจรจาที่ดิน-สินเชื่อ

พลตรีชาติชาย ประดิษฐ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ขอนแก่นทรานซิทซิสเต็ม จำกัด หรือ KKTS เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ขอนแก่น ช่วงสำราญ-ท่าพระ วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาทว่า อยู่ระหว่างจัดเตรียมเสนอรายงานทบทวนผลการศึกษาโครงการฯ ไปยังจังหวัดขอนแก่น เพื่อเสนอสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้เบื้องต้นผลการศึกษาปรับปรุงจากผลการศึกษาเดิมของ สนข. ในส่วนของศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ระยะทาง และจำนวนสถานี

พลตรีชาติชาย กล่าวต่อว่า ผลการศึกษาเดิมกำหนดให้ศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ที่บริเวณสถานีสำราญ แต่เมื่อมาพิจารณาการก่อสร้างแทรมขอนแก่นสายอื่นๆ อีกในอนาคต พบว่า จะมีจุดตัดทั้ง 4 สายที่บริเวณศูนย์วิจัยข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนมาใช้จุดนี้แทน เพราะเป็นจุดที่เหมาะสมกับการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงที่สุด ช่วยประหยัดงบประมาณ ไม่ต้องก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงขึ้นมาใหม่อีก นอกจากนี้ได้ปรับเพิ่มระยะทางจากเดิม 22.8 กิโลเมตร(กม.) เป็น 26 กม. และเพิ่มจำนวนสถานีจากเดิม 16 สถานี เป็น 20 สถานี เนื่องจากมีแนวเส้นทางเพิ่มเข้าไปยัง ม.ขอนแก่น และศูนย์วิจัยข้าวฯ

พลตรีชาติชาย กล่าวอีกว่า ในระหว่างที่ทบทวนผลการศึกษา ได้เริ่มขั้นตอนหาผู้รับเหมาคู่ขนานไปด้วย ซึ่งได้ครบทั้ง 3 สัญญาแล้ว โดยงาน KK-1 งานเหมาออกแบบ และก่อสร้างงานโยธา และโครงสร้าง พร้อมทั้งการผลิต ติดตั้งระบบแทรม และการพัฒนาเมือง ได้แก่ กิจการร่วมค้าซีเคเคเอ็ม (CKKM Joint Venture), งาน KK-2 งานจ้างเหมาปฏิบัติการเดินรถ บำรุงรักษา บริหารจัดการพื้นที่สถานี และการพัฒนาเมือง ได้แก่ นิติบุคคลร่วมทำงาน เคแอลอาร์ทีที (KLRTT Consortium) และงาน KK-3 งานจ้างที่ปรึกษาอิสระ ควบคุม รับรอง และการพัฒนาเมือง ได้แก่ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา WCE

พลตรีชาติชาย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้โครงการยังเดินหน้าต่อ แต่ยังติดปัญหาเรื่องสินเชื่อที่ต้องเจรจากับสถาบันทางการเงินที่ประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงยังไม่ได้หารือร่วมกัน ขณะเดียวกันเรื่องการเจรจาขอใช้ที่ดินของศูนย์วิจัยข้าว รวมถึงการขอใช้เขตทางจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงยอมรับว่าการดำเนินโครงการแทรมขอนแก่นต้องล่าช้าจากแผนเดิมที่วางไว้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้เร็วที่สุดประมาณกลางปี 64 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการประมาณกลางปี 67 ถือว่าล่าช้าจากแผนเดิมที่จะก่อสร้างกลางปี 63 แล้วเสร็จและเปิดบริการปี 66.
See less See more
KKTSกุมขมับ!!”แทรมขอนแก่น”ไปต่อลำบาก

Dailynews 2/9/2563

*ขอรัฐบาลช่วยสนับสนุนงบ 4 พันล้าน
*กรมรางให้ลดพื้นที่ศูนย์ซ่อม 200 ไร่

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เปิดเผยว่า พลตรีชาติชาย ประดิษฐ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ขอนแก่นทรานซิสเต็มท์ จำกัด (KKTS) พร้อมด้วยนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและองค์กรสัมพันธ์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มารายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ขอนแก่น ช่วงสำราญ - ท่าพระ วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังติดปัญหา 2 ส่วน จึงทำให้โครงการดำเนินการต่อไม่ได้ ได้แก่

1.เงินทุนที่จะใช้ดำเนินโครงการ โดยได้ขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนประมาณ 3-4 พันล้านบาท

นายสรพงศ์ กล่าวต่อว่า

2.ที่ดินของศูนย์วิจัยข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้สร้างโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุง(Depot) ประมาณ 200 ไร่ ซึ่งเรื่องนี้เบื้องต้นทางกระทรวงเกษตรฯ มองว่าเป็นขนาดพื้นที่ที่เยอะเกินไป จะสามารถปรับลดลงได้หรือไม่ ดังนั้นจึงขอให้กลับไปทบทวนปรับแผน และนำกลับมาเสนอ ขร. อีกครั้ง เพื่อจะนำไปหารือกับทางกระทรวงเกษตรฯ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขร. ยังอยากเห็นโครงการแทรมขอนแก่นเกิดขึ้นตามแผนที่วางไว้ เพราะเป็นโครงการที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน ซึ่งเรื่องใดที่ ขร. จะสามารถช่วยผลักดันให้ได้ก็จะทำอย่างเต็มที่

ด้านพลตรีชาติชาย กล่าวว่า ยังไม่มีอะไรคืบหน้าจากเดิม เพราะติดปัญหาเรื่องที่ดิน และการเจรจาทางการเงินกับสถาบันทางการเงินของประเทศจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเดินทางมายังประเทศไทยได้ โดยขณะนี้ทำเรื่องขออนุญาตไปที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แล้ว คงต้องรอเวลา

ส่วนเรื่องที่ดินที่จะใช้ทำ Depot นั้น สาเหตุที่ต้องใช้พื้นที่ 200 ไร่ เพราะต้องทำเป็นศูนย์ควบคุมการเดินรถ ศูนย์ซ่อมบำรุง และพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อหารายได้เข้าโครงการด้วย อีกทั้งในอนาคตตามแผนของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) จะมีรถไฟฟ้าผ่านจุดตัดบริเวณศูนย์วิจัยข้าวอีก 4 สายซึ่งจะได้ไม่ต้องสร้างศูนย์ซ่อมฯ เพิ่มอีก

พลตรีชาติชาย กล่าวต่อว่า เวลานี้ยังไม่ทราบว่าจะปรับแผนอย่างไร คงต้องรอจนกว่ากระทรวงเกษตรฯ จะปฏิเสธเรื่องพื้นที่ให้ชัดเจนก่อน ซึ่งคงต้องติดตามดูว่าภายในสิ้นปีนี้ จะสามารถได้ข้อสรุปทั้งเรื่องที่ดิน และการเจรจาเรื่องการกู้เงินหรือไม่

หากจบได้ ก็ยังคงคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้เร็วที่สุดประมาณกลางปี 64 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการประมาณกลางปี 67 แต่หากยังไม่ได้ข้อสรุป น่าาจะส่งผลให้กรอบเวลาการดำเนินงานต่างๆ ต้องเลื่อนออกไปอีก ซึ่งเวลานี้ถือว่าล่าช้าจากแผนเดิมแล้วที่จะก่อสร้างกลางปี 63 แล้วเสร็จและเปิดบริการปี 66.
See less See more
41 - 58 of 296 Posts
This is an older thread, you may not receive a response, and could be reviving an old thread. Please consider creating a new thread.
Top