วันนั้นในเมือง"ละโว้"... ชมเมืองเก่า แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์
วันที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11376 มติชนรายวัน
คอลัมน์ บันทึกเดินทาง โดย สุรเชต เพชรน้ำไหล
ตึกพระเจ้าเหา
เพิ่งอ่านหนังสือ "ศึกชิงบัลลังก์พระนารายณ์" จบ
เหมือน ฟ้าเป็นใจ บันดาลให้มีธุระต้องเดินทางไปเยือน จ.ลพบุรี หรือชื่อเดิม "ละโว้" ดินแดนที่รุ่งเรืองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2199-2231) มีการสร้างปราสาท พระราชวังมากมายเป็นประจักษ์ ในฐานะราชธานีแห่งที่ 2 (รองแต่อาณาจักรอโยธยา) ดังพิสูจน์ด้วยสายตาได้จากสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งนักท่องเที่ยวผู้ได้เดินทาง ไปเยือนลพบุรี
"มักไม่พลาดเยี่ยมชม คือ "พระนารายณ์ราชนิเวศน์" "
โตโยต้า อัลติส นำเรา-4 ชีวิตมุ่งไปบนทางหลวงหมายเลข 1
ด้วย ความต้องตื่นเช้า จึงทำให้บางเรายังรู้สึกง่วงเหงาหาวนอนอยู่ หวังอยากได้กาแฟร้อนดื่มสักถ้วย เข้าเขต จ.ลพบุรีแล้ว คิดเอาไว้ว่าปั๊มน้ำมันสักแห่งน่าจะมีกาแฟสดยี่ห้อหนึ่งที่เราคุ้นเคย แต่ว่าที่สุดแล้วก็คว้าน้ำเหลว เข้าปั๊มโน้นก็ไม่มีกาแฟ (สด) ปั๊มนี้ก็ไม่มีกาแฟ (สด) จนบางคนถึงกับบ่นออกมาดังๆ ว่า "ทำไมแถวนี้หากาแฟดื่มยากจัง"
ในที่สุดก็ไม่มีใครได้ดื่มกาแฟ...
แต่ช่างเถอะ เพราะถ้าพูดถึงการ "ตื่น"
" เช้าวันนั้นเรา "ตื่น-เบิกตาโต" กันตั้งแต่เข้าเขต จ.ลพบุรีแล้ว อันเนื่องมาจากได้เห็นกำลังทหารมากมายเคลื่อนพล (ไม่รู้ว่าไปไหน) ทั้งรถถัง รถจี๊บ รถฮัมวี่ ฯลฯ วิ่งพล่านอยู่บนทางหลวง อดคิดไม่ได้ว่า "หรือจะมีการรัฐประหาร?" ด้วยช่วงนั้น สถานการณ์บ้านเมืองตึงเครียดเหลือเกิน กลุ่มคน "เสื้อแดง" กำลังรุกกดดันรัฐบาลอย่างหน่วงหนัก"
มาถึงเมืองละโว้ เสร็จธุระแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราทั้งสี่ชีวิตจะได้ออกท่องเที่ยว...
แห่ง แรกที่เราไปเยือน คือ "พระที่นั่งไกรสรสีหราช" หรือ "พระที่นั่งเย็น" ที่ประทับอีกแห่งหนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้สร้างเพื่อทรงสำราญพระราชอิริยาบถ เนื่องจากตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำที่เรียกว่า "ทะเลชุบศร" มีบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จคล้องช้าง ล่าเสือ จะเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้
เสร็จสิ้นจากการเที่ยวชมพระที่นั่งเย็น ให้อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วส่วนไหนคือบริเวณที่เรียกว่า "ทะเลชุบศร"
" ภูธร ภูมะธน" นักวิชาการชาวใต้ ผู้คลั่งไคล้ประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนมาปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองละโว้ เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อน ที่ตรงนี้จะเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กินอาณาบริเวณกว้างมาก จนเรียกว่า "ทะเล" ซึ่งมีเรื่องเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งพระรามเคยนำศรมาชุบในทะเลแห่งนี้ จึงได้ชื่อว่า "ทะเลชุบศร"
พระที่นั่งจันทรพิศาล / สมเด็จพระนารายณ์มหาราช / โบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
ใน สมัยพระนารายณ์มหาราชได้มีการสร้างคันดินกักน้ำทางด้านทิศตะวันตกของทะเลชุบ ศร บริเวณมุมคันดินทำเป็นช่องระบายน้ำ เรียกว่า "ปากจั่น" น้ำจะถูกบังคับให้ไหลออกทางประตูนี้ และจากนั้นจะถูกส่งด้วยท่อน้ำดินเผาเข้าไปใช้ในตัวเมือง
"นับว่าระบบประปาของประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรก ณ ที่แห่งนี้นี่เอง"
แต่วันนี้ ทะเลชุบศรแทบไม่เหลือเค้ารอยเดิมให้เห็นแล้ว...
"อยากดูน้ำหยดสุดท้ายของทะเลชุบศรมั้ย?"
อาจารย์ ภูธร ถาม เมื่อเห็นว่าพวกเราผิดหวัง ไม่ได้พบ "น้ำ" ดังที่คาด เนื่องจากกาลเวลาได้ลบความเป็นแหล่งน้ำกว้างแต่ดั้งเดิมไปแล้ว ปัจจุบันกลายเป็นบ้านเรือนผู้คน เป็นสวนผลไม้ เป็นค่ายทหาร มิหนำซ้ำ ทางหลวงหมายเลข 1 ก็วิ่งตัดผ่านกลางทะเลแห่งนี้เสียด้วย (ผู้ใช้เส้นทางนี้สัญจรน้อยรายนักที่จะทราบ)
"อาจารย์ภูธรพาเราไปชม "น้ำหยดสุดท้ายแห่งทะเลชุบศร""
" จะว่าไป ก็เป็นแค่เพียงคำที่นักวิชาการอิสระผู้นี้ใช้ ทำให้เราอยากออกไปชม สร้างเรื่องราวให้น่าติดตาม เพราะน้ำหยดสุดท้ายนั้น ก็ใช่เป็นหยดเล็กๆ อย่างที่คิดไว้ แต่เป็นแหล่งเก็บน้ำที่อยู่ในค่ายทหาร ร.พัน 6 นั่นเอง ซึ่งแต่เดิม บริเวณแห่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งน้ำอันกว้างใหญ่"
ได้เห็นน้ำหยดสุดท้ายของทะเลชุบศรแล้ว เราก็มุ่งหน้าเข้าเมือง
โดย มีจุดหมายคือ "พระนารายณ์ราชนิเวศน์" พระราชวังซึ่ง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2209 เพื่อใช้เป็นที่ประทับ และเป็นราชธานีสำรอง ซึ่งหลังจากพระราชวังแห่งนี้สร้างเสร็จ พระองค์ได้ทรงมาประทับอยูที่เมืองละโว้แห่งนี้บ่อยครั้ง และอยู่นานเสียยิ่งกว่าพระราชวังในกรุงอยุธยาเสียอีก
ยังผลให้เมืองละโว้เจริญรุ่งเรือง กลายเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การเมือง ศิลปวิทยาการ วัฒนธรรม และศาสนา ที่สำคัญอีกแห่ง
น้ำหยดสุดท้ายแห่งทะเลชุบศร/ ปากจั่น-ประตูน้ำ ระบบประปาแห่งแรกของไทย/ ตึกสิบสองท้องพระคลัง
บน เนื้อที่ 42 ไร่ ของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ เขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน
เมื่อ ซื้อตั๋วเข้าชม ผ่านเขตพระราชฐานชั้นนอก เราจะพบอาคารต่างๆ เช่น "ถังเก็บน้ำประปา" เป็นที่กักเก็บน้ำ ซึ่งตามพื้นจะมีท่อดินฝังอยู่สำหรับจ่ายน้ำไปทั่วเขตพระนารายณ์ราชนิเวศน์ นี้,
"ตึกสิบสองท้องพระคลัง" สำหรับใช้เก็บสินค้า ข้าวของต่างๆ ในราชการ,"ตึกเลี้ยงรับแขกเมือง" สำหรับพระราชทานอาหารเพื่อเลี้ยงต้อนรับแขกเมือง, "โรงช้างหลวง" ประมาณ 10 โรง, "ตึกพระเจ้าเหา" เป็นหอพระประจำพระราชวัง ซึ่งชื่อ "พระเจ้าเหา" สันนิษฐานว่าเป็นชื่อพระพุทธรูปสำคัญที่ประดิษฐาน ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชาได้ใช้ตึกแห่งนี้ในการประกาศยึดอำนาจ ชิงบัลลังก์พระนารายณ์
เดิน ต่อมา เข้าเขตพระราชฐานชั้นกลาง จะพบ "พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญมหาปราสาท" เป็นที่เสด็จออกเมื่อมีปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้า และ "พระที่นั่งจันทรพิศาล" สำหรับเป็นหอประชุมองคมนตรี ออกว่าราชการแผ่นดิน
โดย พระที่นั่งองค์นี้ ปัจจุบันอาจารย์ภูธรได้มีส่วนร่วมในการผลักดัน ให้เกิดเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งสำคัญ เป็นอีกสถานที่หนึ่ง สำหรับให้ความรู้เกี่ยวกับพระนารายณ์มหาราชและเรื่องราวต่างๆ ในแผ่นดินของพระองค์
สำหรับเขตพระราชฐานชั้นใน จะพบ "พระที่นั่งสุทธาสวรรย์" ซึ่งเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ได้เสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งองค์นี้
นอกจากสิ่ง ก่อสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์แล้ว ยังมีส่วนที่สร้างเพิ่มเติมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) คือ ตึกพระประเทียบ, ทิมดาบ, หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ โดยชื่อ "พระนารายณ์ราชนิเวศน์" ก็ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 4 ครั้งเสด็จฯมาบูรณะพระราชวังแห่งนี้นั่งเอง และในปัจจุบัน หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎได้รับการปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำ จังหวัดลพบุรี
เราเดินชม "พระนารายณ์ราชนิเวศน์" ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกจนจุใจ พอดีกับแดดร่มลมตกได้เวลากลับ
แต่ ก่อนจาก ได้ยินเสียงเล่าลือมาว่า "ผ้าไหม" ของ จ.ลพบุรี นั้นงดงามมาก ผู้ร่วมทาง 2 คนซึ่งเป็นสตรีเพศ จึงคิดอยากหาซื้อไว้เป็นที่ระลึกสักคนละผืน 2 ผืน
เราวนรถอยู่ในตลาดสักครู่ก็พบกับร้านค้าแห่งหนึ่งชื่อ "ดารณีไหมไทย"- ร้านที่มีคนแนะนำ
ระหว่าง ที่หญิงสาวทั้ง 2 คนไปเลือกซื้อผ้าไหม เพื่อเป็นการฆ่าเวลา ผมเดินไปชมสิ่งก่อสร้างแห่งหนึ่งในละแวกนั้น ด้วยมองดูแล้วรู้สึกคุ้นตา คลับคล้ายคลับคลาว่ารูปแบบการก่อสร้างเหมือน...เหมือน...
ใช่จริงๆ ด้วย!!! สิ่งที่ผมเห็นนั้นคือ "ปราสาทขอม"
ปราสาท ขอมแห่งนี้ มีชื่อเรียกว่า "เทวสถานปรางค์แขก" เป็นศาสนสถานในศาสนาพรามหมณ์-ฮินดู ประกอบด้วยปรางค์ก่ออิฐ 3 องค์ ตั้งเรียงกันในแนวเหนือใต้ ปรางองค์กลางขนาดใหญ่สุด ขนาบข้างด้วยปรางค์ขนาดเล็ก 2 องค์ โดยปรางค์ทั้ง 3 หลังนั้น หันหน้าไปทางทิศตะวันออกแบบศิลปะขอมทั่วๆ ไป มีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว ส่วนอีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก
ด้วยลักษณะทางสถาปัตยกรรม ศิลปะขอมแบบพะโค ทำให้กำหนดอายุเทวสถานปรางค์แขกได้ว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 15
คาด ว่าปราสาทขอมแห่งนี้ คงได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยได้มีการสร้างวิหารเล็กๆ ทางด้านหน้า และถังเก็บน้ำทางด้านทิศใต้ ด้วยสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติมมานี่เอง ทำให้เมื่อเห็นผาดแรก ผมไม่มั่นใจว่าเป็นปราสาทขอมในรูปแบบที่คุ้นตา จนต้องสาวเท้าเข้าไปดูใกล้ๆ เกือบถูกรถราที่วิ่งฉวัดเฉวียนไปมาแถวนั้นเฉี่ยวชน มิหนำซ้ำ ยังโดนสุนัขจรจัดตัวหนึ่งไล่ออกมาจากบริเวณปราสาทเสียอีก
หลังจาก ประสบการณ์เฉียดเจ็บตัว (แต่คุ้มกับการได้เก็บภาพและชื่นชมปราสาทขอมอีกแห่งหนึ่ง) ผมก็กลับมาสมทบกับชาวคณะที่รถ หญิงสาวทั้ง 2 คนรออยู่ครู่หนึ่งแล้ว ทั้งคู่ได้ของติดไม้ติดมือมาอวด และแนะนำให้ผมลองเลือกซื้อผ้าไหมกลับไปฝากคนทางบ้าน
แต่เมื่อพิจารณาจากหลายปัจจัย ช่วงนี้เงินทองต้องใช้อย่างระมัดระวัง อีกอย่าง ลพบุรีก็อยู่ใกล้แค่นี้เอง ผมจึงคิดว่า...
วันหลังค่อยพาคนทางบ้าน มาชื่นชม "แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์"
"และเลือกซื้อ "ของ" ด้วยกันรอบหน้าจะดีกว่า"
หน้า 23