เวนคืน5พันล้านสะพานนนท์1 ข้ามเจ้าพระยาผ่ากลางเมืองทะลุวิภาวดีฯ
มติชนออนไลน์ วันที่ 16 กรกฎาคม 2551 - เวลา 08:45:03 น.
ทางหลวงชนบท-จ.นนท์ หนุนสร้างโครงข่ายยกระดับยาว 8 ก.ม.เชื่อมถนนนครอินทร์-วิภาวดีฯ 4.6 พันล้านรับสะพานข้ามเจ้าพระยา'นนทบุรี 1' เปิดแนวเวนคืน 3 ทางเลือก
กรมทางหลวงชนบท-จังหวัดนนท์ จับมือผลักดันก่อสร้างโครงข่ายยกระดับยาว 8 ก.ม.เชื่อมต่อถนนนครอินทร์-วิภาวดีรังสิต 4.6 พันล้านบาท รับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา "นนทบุรี 1" ที่กำลังจะสร้างใหม่ หวังแก้ปัญหาคอขวดย่านเมืองนนท์ เปิดละเอียดยิบแนวเวนคืน 3 ทางเลือก อาคารพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย ตึกสูงทำเลถนนกรุงเทพฯ-นนท์ ประชาราษฎร์ งามวงศ์วาน ประชาชื่น กำแพงเพชร 2 ประชานิเวศน์ 1 รัชดาฯ วิภาวดีฯ ลุ้นระทึกเจอแจ็กพอต ดีเวลอปเปอร์ตีปีกบูมขุมทอง 2 ฝั่งเจ้าพระยา
นายสุรพล ศรีเสาวชาติ ผู้อำนวยการสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่กรมได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาวงเงินกว่า 11 ล้านบาท เพื่อศึกษาโครงการก่อสร้างโครงข่ายเชื่อมต่อถนนนครอินทร์-ถนนวิภาวดีรังสิต ที่จะก่อสร้างเป็นทางยกระดับหรือทางบายพาสขนาด 4 ช่องจราจร และมีถนนสำหรับสัญจรไปมาอยู่ด้านล่างคล้ายๆ ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ โดยจะต่อเชื่อมกับสะพานนนทบุรี 1 ที่กรมมีแผนจะก่อสร้าง ซึ่งได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินตั้งแต่ปี 2549 และการเวนคืนคืบหน้าไปมากแล้ว จากนั้นแนวเส้นทางจะตัดผ่านหลายพื้นที่เป็นทางยาวไปเชื่อมกับถนนวิภาวดีรังสิต ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาศึกษาโครงการดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดจากที่บริษัทที่ปรึกษาเสนอมาทั้งหมด 4 ทางเลือก
ประกอบด้วย แนวที่ 1 เริ่มต้นที่ถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรี ระหว่างทางแยกตัดถนนประชาราษฎร์ และทางแยกตัดกับถนนพิบูลสงคราม ผ่านถนนนครอินทร์ บริเวณร้านนารัญน์ ผ่านหลังซอยวัดกำแพง 9 ขนานไปกับคลองบางขุนเทียน ผ่านหลังซอยกรุงเทพฯ-นนทบุรี 7 ผ่านถนนประชาราษฎร์ บริเวณปากซอยกรุงเทพฯ-นนทบุรี 7 แล้วผ่านทางด่วนศรีรัช ผ่านถนนประชาชื่น คลองประปา และด้านหลังตลาดพงษ์เพชร แล้วขนานไปกับคลองบางเขน ด้านฝั่งเหนือ แล้วเชื่อมต่อกับถนนงามวงศ์วาน บริเวณด้านทิศเหนือของเรือนจำกลางคลองเปรม
แนวที่ 2 จุดเริ่มต้นบริเวณเดียวกับแนวที่ 1 จากนั้นแนวเส้นทางจะเบี่ยงแยกออกไปบริเวณพื้นที่ด้านหลังกระทรวงสาธารณสุขกับคลองบางเขน ผ่านทางด่วนศรีรัช ผ่านหมู่บ้านประชาสุข จากนั้นแนวเส้นทางจะตัดผ่านแนวสายไฟฟ้าแรงสูง ทางแยกสัญญาณไฟจราจรระหว่างถนนประชาชื่นกับถนนเทศบาลสงเคราะห์ หรือถนนประชานิเวศน์ 1 โดยสร้างทางยกรับบนถนนประชานิเวศน์ 1 แล้วข้ามคลองเปรมประชากร ลดระดับเป็นอุโมงค์ผ่านทางรถไฟ และถนนกำแพงเพชร 2 ไปบรรจบกับถนนวิภาวดีรังสิตบริเวณวัดเสมียนนารี
แนวที่ 3 จุดเริ่มต้นเหมือนกับแนวที่ 1 และ 2 แต่แนวเส้นทางจะเบี่ยงออกไปจากแนวที่ 1 และ 2 เมื่อตัดผ่านถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี บริเวณปากซอยกรุงเทพฯ-นนทบุรี 7 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ข้ามคลองบางเขน ผ่านไปด้านใต้หมู่บ้านสารินปาร์ค ผ่านชุมชนซอยรัชดาภิเษก 70 และพื้นที่ระหว่างซอยรัชดาภิเษก 66 ซอยรัชดาภิเษก 68 แล้วเข้าเชื่อมต่อกับถนนรัชดาภิเษก ก่อนถึงทางแยกประชานุกูล และเข้าซ้อนทับกับถนนรัชดาภิเษก ไปออกถนนวิภาวดีรังสิต
แนวที่ 4 เป็นแนวทางเลือกที่ใช้แนวเส้นทางแนวที่ 1 และ 3 รวมเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นการรวมและกระจายการจราจรบริเวณถนนงามวงศ์งาน และถนนรัชดาภิเษก
นายสุรพลกล่าวว่า โครงการนี้กรมทางหลวงชนบทใช้เวลาศึกษาทั้งหมด 7 เดือน ตั้งแต่กุมภาพันธ์-กันยายน 2551 หลังจากก่อนหน้านี้กรมได้หารือและร่วมศึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนนทบุรี ถึงแนวทางในการก่อสร้างเส้นทางเพื่อระบายรถจากพื้นที่โซนตะวันออกของจังหวัดนนทบุรี ที่ปัจจุบันเริ่มหนาแน่นมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณถนนนครอินทร์ ด้วยการก่อสร้างเส้นทางมาเชื่อมกับระบบทางด่วน และถนนวิภาวดีรังสิต
ขณะเดียวกันจังหวัดนนทบุรีเกรงว่าเมื่อมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ คือ สะพานนนทบุรี 1 เสร็จเรียบร้อย จะทำให้รถมากระจุกตัวบริเวณทางลง จึงมีแนวคิดร่วมกันว่า ควรสร้างทางยกระดับเชื่อมไปออกถนนสายหลัก และทางด่วนเลย เพราะนอกจากช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างด้านตะวันตกกับด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และถนนสายหลักในแนวเหนือ-ใต้ได้อีกด้วย
โดยในการสำรวจศึกษาโครงการนี้บริษัทที่ปรึกษาได้ศึกษาครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอเมืองจังหวัดนนทบุรี และพื้นที่บางส่วนของ กทม. และโครงข่ายถนนสายสำคัญๆ ในปัจจุบันด้วย เช่น ถนนนครอินทร์ วิภาวดีรังสิต รัตนาธิเบศร์ งามวงศ์วาน ติวานนท์ วงศ์สว่าง รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ-นนทบุรี ประชาราษฎร์ ประชาชื่น เทศบาลสงเคราะห์ และทางด่วนศรีรัช
ขั้นตอนต่อไปกรมจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาประกอบการศึกษาด้วย จากก่อนหน้านี้มีกลุ่มอนุรักษ์คลองบางเขนจำนวน 100 คน ทำหนังสือคัดค้านการก่อสร้าง เนื่องจากไม่อยากย้ายถิ่นฐานที่อยู่อาศัย ซึ่งกรมได้ทำหนังสือชี้แจงไปแล้วว่าโครงการนี้ยังเป็นแค่การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน และจะมีการชี้แจงอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ จากนั้นวันที่ 26 กรกฎาคมจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี
มีรายงานข่าวว่า สำหรับแนวเส้นทางโครงการทั้ง 4 ทางเลือก แนวที่มีความเหมาะสมและคุ้มค่าด้านวิศวกรรมมากที่สุด คือ แนวที่ 2 ที่ไปเชื่อมถนนวิภาวดีฯ บริเวณวัดเสมียนนารี ระยะทางจากถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรีประมาณ 7-8 กิโลเมตร ซึ่งหากเลือกแนวทางนี้จะมีการก่อสร้างทางยกระดับบนถนนเดิม คือประชานิเวศน์ 1 ส่วนช่วงตั้งแต่ส่วนต่อเชื่อมกับสะพานนนทบุรี 1 มาจนถึงทางแยกไฟแดงบริเวณคลองประปาประชาชื่น จะก่อสร้างทางยกระดับใหม่ ทำให้ไม่ต้องใช้งบฯก่อสร้างมากเหมือนกับอีก 3 แนวทางเลือก
ทั้งนี้ จากการประเมินในเบื้องต้น คาดว่าโครงการนี้จะใช้เงินก่อสร้างประมาณ 4,600 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้างประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับค่าเวนคืนที่น่าจะอยู่ที่กว่า 2,000 ล้านบาทเช่นเดียวกัน โดยอาจต้องมีการเวนคืนบริเวณที่เป็นถนนตัดใหม่ จุดต่อเชื่อมกับสะพานนนทบุรี 1 มาจนถึงแยกคลองประปา โดยมีบ้านเรือน อาคาร และสิ่งปลูกสร้าง ที่ต้องเวนคืนหลายร้อยหลังคาเรือน อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้บริษัทที่ปรึกษาจะศึกษารายละเอียดอีกครั้ง
