ได้ฤกษ์ตอกเข็มสะพานนนทบุรี1 เปิดซิงทำเลทองใหม่เมืองนนท์-กรุงเทพฯโซนตต.
วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4204 ประชาชาติธุรกิจ
ทช.เร่งสปีด "สะพานนนทบุรี 1" หลัง ไจก้าให้เงินกู้ เริ่มพีคิวผู้รับเหมาแล้ว ดีเดย์ยื่นประมูล ก.ค.นี้ ตอกเข็มปลายปี บิ๊ก รับเหมาขาประจำทั้งไทย-เทศ แห่ชิงเค้ก 3.7 พันล้านบาท "ITD-ช.การช่าง-ซิโน-ไทยฯ-กำแพงเพชรวิวัฒน์-ยูนิค-คาจิม่า- สุมิโต-ไทเซ-ไชน่าฮาร์เบอร์" วงในโวยลั่นล็อกสเป็กให้ต่างชาติ
หลังเตรียมความพร้อมล่วงหน้ามาร่วม 2 ปี ถึงตอนนี้ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ใกล้จะได้ฤกษ์เดินหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณนนทบุรี 1 เงินลงทุน 3,796 ล้านบาท เป็นเงินกู้ 70% และงบประมาณ 30% เนื่องจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) อนุมัติเงินกู้อย่างเป็นทางการแล้ว
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ 20 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติแผนเงินกู้จากไจก้า วงเงิน 7,307 ล้านเยน หรือ 2,656 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ภายใต้เงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.95 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยส่วนการว่าจ้างที่ปรึกษา ร้อยละ 0.01 ต่อปี ค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ของวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย ร้อยละ 0.1 ต่อปี ระยะเวลาชำระเงินกู้ 20 ปี ปลอดหนี้ 6 ปี การเบิกจ่ายเงินกู้ภายใน 6 ปี โดยเตรียมเสนอรัฐสภาพิจารณา 20 พฤษภาคมนี้ เพื่อเซ็นสัญญาเงินกู้ ส่วนที่เหลือ 1,140 ล้านบาท ใช้เงิน งบประมาณ
นายวิชาญ คุณากูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เพื่อให้โครงการเดินหน้าอย่างรวดเร็วจะคัดเลือกคุณสมบัติผู้รับเหมาก่อสร้าง (พีคิว) และขั้นตอนประมูลที่จะเปิดประมูลแบบนานาชาติ 1 สัญญา โดยเปิดให้ผู้รับเหมาไทยและต่างชาติเข้าร่วมประมูล ในระหว่างที่รอเซ็นเงินกู้ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 เดือนขั้นตอนต่าง ๆ จะแล้วเสร็จ
โดยระหว่างวันที่ 30 มีนาคมถึง 4 มิถุนายนนี้ ทช.ได้ประกาศเชิญชวนผู้รับเหมายื่นพีคิว ซึ่งมีผู้รับเหมามารับเอกสารแล้วกว่า 10 ราย ใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน จากนั้นจะส่งรายชื่อให้สำนักงบประมาณ และไจก้าอนุมัติจะเปิดให้ยื่นซองประมูลเดือนกรกฎาคม 2 ซอง คือเทคนิคและราคา เซ็นสัญญาเดือนกันยายน 2553 เริ่มก่อสร้างตุลาคม-พฤศจิกายน 2553 เพราะเวนคืนที่ดินเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ปี 2551 ใช้เวลาก่อสร้าง 30 เดือน ถึงกลางปี 2556
รายชื่อผู้รับเหมาที่รับเอกสารการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้น อาทิ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.คาจิม่า, บมจ.ช.การช่าง, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, บจ.เอ.เอส. แอสโซ ซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964), บจ.กำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง, บมจ.ยูนิค เอ็นยิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, บจ.บุญสหะการสร้าง, บจ.ไชน่าฮาร์เบอร์, บจ.ทิพากร, บจ.สุมิโตโม, บจ.ไทเซ
"โครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับพื้นที่โซนตะวันตก จะพลิกโฉมเปิดพื้นที่พัฒนาใหม่มากขึ้น และเพิ่มทางเลือกในการเดินทางสำหรับคนนนทบุรี และ กทม.ฝั่งตะวันตก เพราะสะพานจะเชื่อมโยง 2 ฝั่งเจ้าพระยา การเดินทางจะสะดวกขึ้น และเสริมศักยภาพโครงข่ายปัจจุบันทั้งถนนราชพฤกษ์ เลี่ยงเมืองปากเกร็ด สะพาน พระนั่งเกล้า ช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้มาก"
นายวิชาญกล่าวว่า รูปแบบสะพานนนทบุรี 1 ผสมผสานระหว่างสะพานขึงและคอนกรีต เรียกว่าสะพานคานขึง หรือ extradosed เหมือนกับนำสะพานภูมิพล 1 และสะพานพระปิ่นเกล้ามารวมกัน ประเทศไทยยังไม่มีการสร้างสะพานรูปแบบนี้ ผู้รับเหมาไทยที่ไม่มีผลงานนี้จะต้องร่วมทุนกับต่างชาติ
ด้านแหล่งข่าวจากผู้รับเหมาก่อสร้างกล่าวว่า ผู้รับเหมาไทยกังวลเรื่องการกำหนดคุณสมบัติผู้รับงานโครงการนี้มาก เพราะรับเหมาไทยแข่งขันได้ยาก เหมือนต้องการล็อกสเป็กให้ต่างชาติ เนื่องจากระบุให้มีผลงานสะพานแบบ extradosed ซึ่งมีเฉพาะในญี่ปุ่น รับเหมาไทยจึงต้องหาพาร์ตเนอร์ที่มีผลงานเข้าร่วม และเป็นแกนนำไม่ได้ต้องเป็นผู้ร่วมทุนรายที่ 2 และ 3 เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการนนทบุรี 1 ระยะทางรวม 4.3 กิโลเมตร รูปแบบมีทั้งสะพานข้ามแม่น้ำ 6 ช่องจราจร ยาว 460 เมตร และถนนต่อเชื่อมระดับดิน 6 ช่องจราจร จุดเริ่มต้นอยู่บนถนนนนทบุรี 1 ฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้โรงเรียน ศรีบุญยานนท์ ด้านใต้ของท่าน้ำพิบูลสงคราม 4 และชุมชนตลาดขวัญ แล้วเบี่ยงไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางด้านตะวันตกฝั่งใต้ของคลองอ้อมนนท์ โดยแนวจะอยู่ระหว่างศาลหลักเมืองและอุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษก
จากนั้นเบนไปทิศตะวันตก ตัดผ่านถนนวัดโบสถ์ดอนพรหม-ท่าน้ำนนทบุรี ก.ม.1+300 แล้วจะขนานไปตามแนวถนนวัดโบสถ์ดอนพรหม-ท่าน้ำนนทบุรี ผ่านพื้นที่ว่างเปล่าและสวน บรรจบกับถนนวัดโบสถ์ดอนพรหม-ท่าน้ำนนทบุรี ที่ ก.ม.2+600 สิ้นสุดโครงการที่ถนนราชพฤกษ์ บริเวณสะพานข้ามถนนราชพฤกษ์
จะมีทางต่างระดับเชื่อมกับโครงข่ายเดิมบนถนนนนทบุรี 1 บริเวณจุดเริ่มต้นเป็นทางลงสำหรับรถที่จะลงถนนนนทบุรี 1 ไปท่าน้ำนนทบุรี และทางขึ้นสำหรับรถบนถนนนนทบุรี 1 จากท่าน้ำนนทบุรีที่จะขึ้นสะพาน โดยไม่ต้องผ่านสามแยกถนนนนทบุรี 1 และถนนเลี่ยงเมือง และมีทางขึ้นสำหรับรถบนถนนนนทบุรี 1 จากถนนรัตนาธิเบศร์ที่จะไปท่าน้ำนนทบุรี ต่อเชื่อมเข้ากับทางลงสะพาน สำหรับรถที่จะไปท่าน้ำนนทบุรี และทางขึ้นบนถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรี สำหรับรถขึ้นสะพาน โดยไม่ต้องผ่านสามแยกนนทบุรี 1 ถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรี ทางแยกบริเวณตลาด อ.ต.ก.และมีสะพานข้ามแยกบนถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรี จากถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรีที่จะไปรัตนาธิเบศร์
ตัวสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีทางขึ้น-ลงต่อเชื่อมด้านทิศตะวันตก ที่จุดตัดระหว่างแนวถนนโครงการกับถนนวัดโบสถ์ดอนพรหม-ท่าน้ำนนทบุรี เป็นสะพานข้ามแยกมีทางขึ้น-ลง สำหรับรับ-ส่งรถจากชุมชนเฉลิมพระเกียรติ และชุมชนตามแนวถนนวัดโบสถ์ดอนพรหม-ท่าน้ำนนท์เดิม
ส่วนถนนระดับดินตัดใหม่จะมีแยกต่างระดับที่ถนนราชพฤกษ์ บริเวณจุดสิ้นสุดโครงการจะเป็นแรมป์สำหรับส่งรถจากฝั่งตะวันออก (ถนนโครงการ) ข้ามถนนราชพฤกษ์สู่ถนนวัดโบสถ์ดอนพรหม-ท่าน้ำนนทบุรี (มุ่งหน้าฝั่งตะวันตก) เพื่อส่งรถจากถนนโครงการเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนราชพฤกษ์มุ่งหน้าถนนรัตนาธิเบศร์ และมีสะพานยกระดับขนานกับสะพานยกระดับเดิม ส่งรถจากถนนวัดโบสถ์ดอนพรหมข้ามถนนราชพฤกษ์เข้าสู่ถนนโครงการ มุ่งหน้าฝั่งตะวันออก มีลูปแรมป์รับรถจากถนนราชพฤกษ์เลี้ยวขวา เข้าถนนโครงการ มุ่งหน้าฝั่งตะวันออก
หน้า 8