ขู่ล้มประมูลสร้างสะพานนนท์1 เหตุITD-SMCCเสนอราคาสูงปรี๊ด
โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ 28 เมษายน 2554 13:25 น.
*ทช.เดินหน้าเจรจา ITD-SMCCรอบ 2 หลังเสนอราคาแพงกว่าราคากลางถึง 500 ล้านบาท
*หวังหั่นค่าก่อสร้าง “สร้างสะพานนนท์ 1” ขู่หากไม่ลดราคาจะยกเลิกการประมูล
* ครม.อนุมัติใช้อนุญาโตตุลาการ ป้องกันถูกฟ้องร้องในอนาคต
แม้ว่าจะได้ผู้รับเหมาในโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณนนทบุรี 1 ไปแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากว่าผู้รับเหมาเสนอราคามาสูงกว่าราคากลางถึงกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งกรมทางหลวงชนบท(ทช.) ได้เจรจาต่อรองราคาขอให้ผู้ชนะการประมูลคือ กิจการร่วมค้า ITD-SMCC (บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และ บจ.สุมิโตโม มิตซุย คอนสตรัคชั่น) ลดราคาลงมาบ้าง แต่ผู้รับเหมายังคงยืนยันราคาที่เสนอมา ทำให้ ทช.อาจจะต้องยกเลิกการประกวดราคาครั้งนี้ และการเจราจาต่อรองราคายังไม่เป็นที่พอใจ ส่งผลให้โครงการมีความล่าช้าออกไปอย่างน้อย 1 เดือน เพระแทนที่จะลงนามสัญญาว่างจ้างในเดือนเม.ย.นี้และเริ่มงานก่อสร้างในเดือนพ.ค.กลับต้องเลื่อนออกไปจนกว่าจะได้ราคาเป็นที่น่าพอใจ
วิชาญ คุณากุลสวัสดิ์ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) กล่าวว่า ความจริงการต่อรองราคาจะต้องแล้วเสร็จในเดือนเม.ย.นี้พร้อมทั้งลงนามจ้าง แต่เนื่องจากว่าผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลงานยังไม่ยอมลงราคาก่อสร้าง ทำให้ทช.ต้องต่อรองราคาจนกว่าจะได้ราคาที่พอใจ ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมของงานมีความล่าช้าไป1 เดือน เพราะตามแผนงานทช.จะต้องรายงานให้ที่ประชุมครม.รับทราบในเดือนนี้และผู้รับเหมาจะต้องเข้าพื้นที่ก่อสร้างในเดือนพ.ค.กลับต้องเลื่อนออกไปอย่างน้อย1เดือนและคาดว่าจะรายงานให้ครม.รับทราบไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ แต่ทั้งนี้ ทช.จะรายงานต่อกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงคมนาคมว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป เช่น ให้ยกเลิกประมูลแล้วเปิดประกวดราคาใหม่ หรือขอวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่ม
“หากอิตันไทยยังยืนยันที่จะใช้ราคาเดิมทช.คงไม่มีทางเลือกนอกจากยกเลิกประกวดราคาใหม่ และคิดว่าอิตันไทยคงอยากได้งานนี้เหมือนกันซึ่งก็ต้องให้โอกาสอิตันไทยในการหารือกับผู้ถือหุ้นเพราะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้จำได้ข้อสรุป”วิชาญกล่าว
วิชาญกล่าวอีกว่า หากทช.ยกเลิกประกวดราคา เชื่อว่าอิตันไทยจะไม่ฟ้อง เพราะมีเงื่อนไขในตามสัญญากรณีการยกเลิกประกวดราคาหากเสนอราคาสูงกว่าราคากลาง ทั้งนี้ทช.จะพยายามให้ผู้รับเหมายอมลดราคา เพราะถ้ายังใช้ราคา 4,500 ล้านบาท ทช.ไม่มีเงินลงทุนและหากจะเสนอขอเพิ่มวงเงินก็จะส่งผลให้โครงการมีความล่าช้าออกไปอีก เนื่องจากโครงการดังกล่าวใช้เงินกู้ จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า)ซึ่งก็ไม่ทราบว่าไจก้าจะให้กู้หรือไม่ อีกทั้งที่ผ่านมาทช.มีการคำนวนค่าก่อสร้างและราคาวัสดุไว้แล้วว่ามูลค่าก่อสร้างประมาณ 4,000 ล้านบาท สามารถดำเนินการได้
นอกจากนี้ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ ทช.ใช้วิธีอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทในสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการก่อสร้างสะพานแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้รับความเห็นของกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.)ไป พิจารณาดำเนินการต่อไป สาเหตุที่ต้องใช้อนุญาโตตุลาการเนื่องจากว่าทช. ได้เปิดประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยวิธีการประกวดราคาแบบนานาชาติ โดยได้ใช้เงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า หรือ70% ในการก่อสร้างโครงการ และไจก้าระบุเงื่อนไขประเด็นในการระงับข้อพิพาทของโครงการฯ ในสัญญาให้ใช้วิธีอนุญาโตตุลาการ ให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งจะทำให้ไจก้าสามารถรักษามาตรฐานที่กำหนดไว้ในสัญญาได้
สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนนนทบุรี 1 ระยะทาง 4.3 กม. มูลค่า 4,000 ล้านบาท โดยมีพื้นที่ถูกกระทบจากการเวนคืนแบ่งเป็น มีที่ดินถูก 385 แปลง คิดเป็นเนื้อที่ 144 ไร่ ส่วนอาคารและสิ่งปลูกสร้าง 431 หลังคาเรือน ต้นไม้ยืนต้นและพืชผล 185 แปลง รวมค่าเวนคืน 2,200 ล้านบาท คาดว่าจะลงนามสัญญาและเริ่มก่อสร้างประมาณกลางปี 2554 ใช้เวลาก่อสร้าง 30 เดือนแล้วเสร็จ ปี 2556
โดยจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่ถนนนนทบุรี 1 ใกล้โรงเรียนศรีบุณยานนท์ แนวเส้นทางในช่วงต้นอยู่ในพื้นที่ด้านใต้ของท่าน้ำพิบูลสงคราม 4 และชุมชนตลาดขวัญ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปขึ้นฝั่งด้านตะวันตกบริเวณพื้นที่ฝั่งใต้ของคลองอ้อมนนท์ โดยแนวเส้นทางจะอยู่ในพื้นที่ระหว่างศาลหลักเมืองซึ่งอยู่ทางด้านเหนือ และอุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษกที่อยู่ทางด้านใต้ ของแนวตามลำดับ เมื่อแนวเส้นทางผ่านอุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษกแล้วแนวจะเบนไปทางทิศตะวันตก ตัดผ่านถนนวัดโบสถ์ดอนพรหม-ท่า น้ำนนทบุรี ประมาณที่ กม.1 + 300 จากนั้น แนวจะวางตัวขนานไปทางด้านใต้ของแนวถนนวัดโบสถ์ดอนพรหม-ท่าน้ำนนทบุรี ผ่านพื้นที่ว่างเปล่าและสวน และจะบรรจบซ้อนทับกับถนนวัดโบสถ์ดอนพรหม-ท่าน้ำนนทบุรี ที่ประมาณ กม.2+600ไปจนถึงจุดสิ้นสุดโครงการที่ถนนราชพฤกษ์
ทั้งนี้โครงการดังกล่าว เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ทช.ตามนโยบายที่ต้องการพัฒนาโครงข่ายถนนสายรองต่อเชื่อมระหว่างถนนนนทบุรี 1 ในพื้นที่ด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยากับถนนราชพฤกษ์ซึ่งเป็นโครงข่ายถนนสายหลักในแนวทิศเหนือ-ใต้ ในพื้นที่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจในเขตจังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี ซึ่งนอกจากจะอำนวยความสะดวกต่อประชาชนในจังหวัดนนทบุรีแล้ว ยังช่วยบรรเทาการจราจรบนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้โครงข่ายเส้นทางคมนาคมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครตอนบนและจังหวัดนนทบุรีมีความสมบูรณ์มากขึ้น
เตรียมลงนามถนนเชื่อมราชพฤกษ์
นอกจากนี้ทช.ยังมีโครงการถนนต่อเชื่อมถนนราชพฤกษ์-กาญจนาภิเษก (แนวตะวันออก-ตะวันตก) ต่อเชื่อมกับสะพานห้าแยกปากเกร็ด ราคากลาง 2,574 ล้านบาท โดยบริษัทที่ชนะการประมูล คือ ซิโน-ไทยฯ เสนอราคาต่ำสุดที่ 2,547 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 2 % ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมลงนามในสัญญาคาดว่าจะลงนามได้ภายในปีนี้
โดยแนวเส้นทางเริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 345 บริเวณทางแยกต่างระดับของโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณห้าแยกปากเกร็ดและถนนต่อเชื่อม ไปบรรจบทางหลวงหมายเลข 346บริเวณทางเลี่ยงเมืองปทุมธานี มีระยะทาง 11 กม. และมีถนนบรรจบเข้ากับถนนกาญจนาภิเษกบริเวณกิโลเมตรที่ 55 มีระยะทาง 4.2 กม. ถนนขนาด 6 ช่องจราจรซึ่งในอนาคตจะขยายเป็น 10 ช่องจราจร และจะก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัดต่างๆ รวม 3 แห่ง และมีการปรับรูปแบบทางแยกต่างระดับของโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ เจ้าพระยาบริเวณห้าแยกปากเกร็ดและถนนต่อเชื่อมที่ทางหลวงหมายเลข 345 อีก 1 แห่ง
ส่วนโครงการก่อสร้างอุโมงค์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ มูลค่า 990 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างถนนผังเมืองที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มูลค่า 800 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการลงนามจ้างเช่นเดียวกัน
http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9540000052239