อุตสาหกรรมต่อเรือเวียดนามไปโลด
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 เมษายน 2549 11:34 น.
กรุงเทพฯ- รัฐวิสาหกิจต่อเรือเวียดนาม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "วีนาชิน" (Vinashin) เพิ่งจะนำเรือสินค้าที่ใหญ่ที่สุด ขนาดระวางขับน้ำกว่า 50,000 ตันลงน้ำได้สำเร็จในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นเรือสินค้าที่ใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างมา และยังจะต้องสร้างเรือขนาดนี้อีก 20 ลำ ขณะเดียวกันก็กำลังเงมือต่อเรือบรรทุกน้ำมันขนาด 100,000 ตัน อีก 1 ลำ ให้กับบริษัทน้ำมันแห่งชาติปิโตรเวียดนาม โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2549 นี้
ไตรมาสแรกของปี 2549 นี้ รัฐวิสาหกิจต่อเรือเวียดนามได้ลงนามในความตกลงต่อเรือจำนวน 14 สัญญาด้วยกันใน ทำให้มีรายได้กว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวถึง 58% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และในปีนี้ทั้งปีวีนาชินตั้งเป้าผลประกอบการเอาไว้สูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 44% จากเพียง 493 ล้านดอลลาร์ในปี 2548
ตามรายงานของสื่อทางการเวียดนามนั้น ลูกค้าหลักของวีนาชินก็ยังเป็นบริษัทเดินเรือสินค้าในญี่ปุ่น เดนมาร์ก จีนกับเนเธอร์แลนด์ ขณะที่ได้ลูกค้าจากอังกฤษเป็นลูกค้ารายใหญ่เมื่อปีที่แล้ว
ในบรรดาลูกค้าสำคัญที่สั่งต่อเรือกับวีน่าชินระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค.ปีนี้ รวมทั้ง บริษัทกะเน็นมัต (Kanenmat) ในญี่ปุ่น ซึ่งได้ตกลงให้วีนาชินต่อเรือสินค้าขนาดระวางขับน้ำ 8,700 ตัน จำนวน 3 ลำ กับกลุ่มคลิปเปอร์จากเดนมาร์ก ที่สั่งต่อเรืออเนกประสงค์ขนาด 4,600 ตัน จำนวน 10 ลำด้วยกัน และยังได้ต่อเรือสินค้าขนาด 12,500 ตัน กับ 6,500 ตัน อย่างละ 1 ลำ เรือบรรทุกคอนเทนเนอร์และเรือขนไม้ซุงอีกชนิดละ 1 ลำด้วย
วีนาชินยังเซ็นข้อตกลงกับบริษัทแคมโก้ (CAMCO) ของจีน เพื่อสร้างอู่ต่อเรือมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ในเขตอุตสาหกรรมต่อเรือเญินโฮย (Nhan Hoi) ใน จ.บิ่งดิง (Binh Dinh) ในภาคกลางของประเทศ
แต่การลงทุนทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเพียงส่วนประกอบน้อยนิดในแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทที่ประกาศในปี 2547 ที่กำลังจะมีการระดมทุนทั้งในรูปเงินกู้และการออกหุ้นกู้ หรือพันธบัตร เป็นมูลค่าราว 1,400 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2553 เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเรือให้เป็นอุตสาหกรรมทันสมัยของประเทศ และขยายศักยภาพการต่อเรือที่มีขนาดใหญ่โตขึ้น
ในวันพฤหัสบดีที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมาวีนาชินมีกำหนดปล่อยเรือเดินทะเลขนาดระวางขับน้ำ 53,000 ตัน ที่ต่อโดยอู่ฮาลอง (Halong) ใน จ.กว๋างนิง (Quang Ninh) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งนับเป็นเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่วีนาชินเคยสร้างในเวียดนาม
เรือที่ใหญ่ที่สุดลำแรกของวีนาชิน ที่ตั้งชื่อว่า "ฟลอเรนซ์" นี้ มีความยาว 190 เมตร มีพื้นที่บรรจุสินค้า 64,000 ลูกบาศก์เมตร เป็นลำแรกในบรรดาเรือสินค้าจำนวน 21 ลำ ที่อู่ฮาลองจะต้องต่อให้กับลูกค้าในอังกฤษ ในสัญญามูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่เซ็นกันในปี 2548 เรือถูกออกแบบโดยบริษัทคาร์ลบรอสมารีนจำกัด แห่งประเทศเดนมาร์ก ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์
อย่างไรก็ตามสถิตินี้กำลังจะถูกลบในไม่ช้า เพราะวีนาชินกำลังต่อเรือบรรทุกน้ำมันดิบขนาดระวางขับน้ำ 100,000 ตัน ความยาว 245 เมตร กว้าง 20 เมตร 1 ลำ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จและนำเข้าใช้การในปี 2549 นี้
วีนาชินเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งแรกของรัฐบาลที่ได้ออกไประดมทุนในต่างแดน โดยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์สามารถนำเงินทุนเข้าไปพัฒนาและปรับปรุงกิจการ รวมทั้งการปรับปรุงอู่ต่อเรือฮาลองให้มีขีดความสามารถสูงยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีการก่อสร้างส่วนสำนักงานของบริษัทที่มีมูลค่าถึง 14.5 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา
ในปี 2548 วีนาชินได้ออกพันธบัตรเป็นมูลค่าหลายพันล้านด่ง โดยจำหน่ายให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีสถาบันการเงินของรัฐบาลเวียดนามเป็นผู้ค้ำประกัน
ในเดือน ม.ค.ปีนี้ บรรษัทดังกล่าวได้ประกาศแผนการลงทุนอีกเกือบ 18.9 ล้านดอลลาร์ สร้างอู่ต่อเรือทันสมัยแห่งใหม่ใน จ.ก่ามาว (Ca Mau) ทางตอนใต้สุดของประเทศ เพื่อต่อเรือขนาดระวางขับน้ำ 5,000-10,000 ตันและกำลังจะมีการจ้างงานอีกราว 4,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวเวียดนามอีโคโนมี
ในเวียดนามยังมีบริษัทต่อเรือขนาดเล็กอื่นๆ อีกหลายแห่ง และบางแห่งต้องหันมาเป็นผู้รับงานให้ต่อจากวีนาชิน ในขณะที่สัญญาการต่อเรือเริ่มมากขึ้นทุกทีๆ บริษัทนี้ประกาศในเดือน ส.ค.ปีที่แล้วว่า สัญญาต่อเรือที่มีอยู่ในมือในปัจจุบันจนถึงปี 2552 มีมูลค่าถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ มีลูกค้าในต่างแดนกว่า 30 ราย.
รือสินค้าไตเซิน (Tay Son) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยอู่ต่อเรือฮาลองของบรรษัทวีนาชิน เมื่อปีที่แล้ว นี่เป็นอีกผลงานหนึ่ง
ลูกค้าหลักอุตสาหกรรมการต่อเรือของบริษัท "วีนาชิน" ยังเป็นลูกค้าจากต่างประเทศ สามารถทำรายได้กว่า 400 ดอลลาร์สหรัฐ
.........
เวียดนามดันอุตสาหกรรมต่อเรือขึ้นสู่ระดับโลก
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 21 พฤษภาคม 2550 22:50 น.
กรุงเทพฯ—นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรมต่อเรือของเวียดนาม หรือ Vinashin (Vietnam Shipbuilding Industry Group) จะต้องเร่งขยายธุรกิจเพื่อยกระดับขึ้นเป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลก รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ
นายกรัฐมนตรีเวียดนามซึ่งไปเยี่ยมชมอู่ต่อเรือ 2 แห่งของวินาชินในนครหายฟ่อง (Hai Phong) เมื่อวันอาทิตย์ (20 พ.ค.) ได้แนะนำให้รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ขยายกิจการออกไปอย่างกว้างขวาง ให้เป็นบริษัทอุตสาหกรรมต่อเรือขนาดใหญ่ระดับโลกในอนาคตอันใกล้
นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวว่า การต่อเรือจะต้องเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ตลอดจนด้านความมั่นคงของประเทศมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจจะต้องอาศัยการขนส่งทางทะเลเป็นสำคัญ เนื่องจากเวียดนามมีชายฝั่งทะเลยาวถึง 3,000 กิโลเมตร
ข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ทำให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญให้แก่อุตสาหกรรมต่อเรือ อุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน การประมงและการท่องเที่ยว ให้อยู่ในอันดับต้นๆ ของการพัฒนาและส่งเสริมทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวทางการ หรือ วีเอ็นเอ (Vietnam News Agency)
นายยวุ๋งกล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมต่อเรือเวียดนามมีข้อได้เปรียบสำคัญในตลาดโลก คือสามารถต่อเรือขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่ราคาต่ำกว่าเรือที่ต่อจากที่อื่นๆ
ปัจจุบันอู่ต่อเรือนามเจียว (Nam Trieu) ของวินาชินในนครหายฟ่อง กำลังต่อเรือบรรทุกสินค้า ขนาด 53,000 ตันเป็นลำที่ 2 และ กำลังต่อเรือขนาด 150,000 ตัน ให้แก่ลูกค้าต่างประเทศ เป็นเรือบรรทุกน้ำมันดิบและสามารถบรรทุกรถยนต์ได้คราวละ 7,000 คัน
นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมต่อเรือกำลังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตลวดเชื่อมไฟฟ้าและสายไฟฟ้า
ในปัจจุบันวินาชินกำลังต่อเรือตามสั่งให้กับบริษัทเดินเรือต่างประเทศหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากยุโรป ซึ่งได้แก่เดนมาร์ก ญี่ปุ่น จีน เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ รวมเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ โดยบริษัทเดินเรืออังกฤษเป็นลูกค้ารายใหญ่ในปี 2549
เรือเกือบทั้งหมดมีกำหนดส่งมอบให้ลูกค้าในปี 2553 เป็นต้นไปวีเอ็นเอกล่าว
เมื่อเดือน เม.ย.2549 วินาชิน ได้ปล่อยเรือสินค้าที่ใหญ่ที่สุดที่เคยต่อมา มีขนาดระวางขับน้ำ 53,000 ตัน ลงน้ำได้สำเร็จเป็นลำแรก ในไตรมาสที่ 1 ปีเดียวกันก็ได้เซ็นสัญญาต่อเรือจำนวน 14 สัญญา
ลูกค้าสำคัญเมื่อปีที่แล้วรวมทั้ง บริษัทกะเน็นมัต (Kanenmat) ในญี่ปุ่น ที่สั่งต่อเรือสินค้าขนาด 8,700 ตัน จำนวน 3 ลำ กับ กลุ่มคลิปเปอร์จากเดนมาร์ก ที่สั่งต่อเรืออเนกประสงค์ขนาด 4,600 ตัน จำนวน 10 ลำ เรือสินค้าขนาด 12,500 ตัน กับ 6,500 ตัน อย่างละ 1 ลำ เรือบรรทุกคอนเทนเนอร์และเรือขนไม้ซุงอีกอย่างละ 1 ลำ
เมื่อปีที่แล้ววินาชินได้ร่วมมือกับบริษัทเดินเรือจากจีนแห่งหนึ่งก่อสร้างสร้างอู่ต่อเรือมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ ขึ้นอีกแห่งในเขตอุตสาหกรรมต่อเรือเญินโฮย (Nhan Hoi) จ.บิ่งดิง (Binh Dinh) ในภาคกลาง
กำลังมีการก่อสร้างอู่ต่อเรืออีกแห่งใน จ.ก่าเมา (Ca Mau) ทางใต้สุดของประเทศ ด้วยเงินลงทุนเกือบ 18.9 ล้านดอลลาร์ จะใช้เป็นที่ต่อเรือขนาด 5,000-10,000 ตัน ซึ่งจะมีการจ้างงานอีกราว 4,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้เป็นรายงานของนิตยสารข่าวเศรษฐกิจเวียดนามอีโคโนมี
วินาชินกลายเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งแรกของประเทศที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ มีการออกหุ้นกู้เป็นมูลค่าราว 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่แล้ว เพื่อขยายธุรกิจและพัฒนาศักยภาพให้สามารถต่อเรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
เรือ Sea Dream ขนาด 6,000 ตันเศษลำนี้ ก็เป็นผลงานอู่วินาชิน
เรือสินค้า Elektra ต่อให้กับ Wallenius-Marine ในญี่ปุ่น
อู่ฮุนได-วินาชิน ในนครหายฟ่อง (Hai Phong) ต้อให้กับบริษัทเดินเรืออังกฤษ
..........
เวียดอวดศักดาต่อเรือ 100,000 ตันรับโรงกลั่น
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 21 พฤษภาคม 2550 19:53 น.
ผู้จัดการรายวัน-- วินาชิน (Vinashin) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ได้ลงมือต่อเรือบรรทุกน้ำมันขนาด 104,200 ตัน ให้กับกลุ่มบริษัทน้ำมันเวียดนาม (PetroVietnam) เพื่อเตรียมรับการเปิดโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศในอีก 2 ปีข้างหน้า
ขณะเดียวกันโอมาน ผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญในองค์การประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือโอเปก (Organization of Petroleum Production Countries) ได้เซ็นบันทึกช่วยความจำ ความร่วมมือและการลงทุนแขนงก๊าซและน้ำมันกับเวียดนามเป็นครั้งแรก
นายกรัฐมนตรีคูเวต ก็เป็นผู้นำจากตะวันออกกลางอีกคนหนึ่งที่จะไปเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการในสัปดาห์นี้
ตามรายงานของสื่อทางการ เรือบรรทุกน้ำมัน "ยวุ๋งกว๊าต 1" (Dung Quat 1) กำลังจะเป็นลำแรกในชั้น "อะฟราแม็กซ์" (Aframax class) ต่อโดยอู่ต่อเรือของรัฐวิสาหกิจวินาชิน (Vinashin) ที่อ่าวยวุ๋งกว๊าต ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชื่อเดียวกันของ จ.กว๋างหงาย (Quang Ngai)
เรือบรรทุกน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม จะมีความยาว 245 เมตร (ยาวกว่าสนามฟุตบอลมาตรฐาน 2 สนามเรียงกัน) กว้าง 43 เมตร (กว่าครึ่งหนึ่งของสนามฟุตบอล) และ สูง 20 เมตร มูลค่าราว 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บรรทุกน้ำมันดิบได้ 120,900 ลูกบาศก์เมตร
บรรษัทอุตสาหกรรมต่อเรือเวียดนาม (Viet Nam Shipbuilding Industry Corporation ) เริ่มลงมือปฏิบัติการในวันศุกร์ (18 พ.ค.) ที่ผ่านมา โดยมีกำหนดส่งมอบให้ปิโตรเวียดนาม (Vietnam Oil and Gas Group) ในไตรมาสที่ 3 ปีหน้า ซึ่งจะเป็นช่วงที่เปิดใช้โรงกลั่นยวุ๋งกว๊าต ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวทางการเวียดนามวีเอ็นเอ (VNA)
นายเลเหลิก (Le Loc) ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทวินาชินยวุ๋งกว๊าต (Vinashin Dung Quat) ซึ่งเป็นผู้ต่อเรือน้ำมันยักษ์กล่าวในขณะเดียวกันว่า "ยวุ๋งกว๊าต 1" จะเป็นเรือลำที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเดินเรือและอุตสาหกรรมต่อเรือในเวียดนาม และ เป็นเรือใหญ่ลำแรกที่ต่อในภาคกลางของประเทศ
วินาชินมีอู่ต่อเรือขนาดใหญ่อยู่ในนครโฮจิมินห์กับอีก 2 แห่งในนครหายฟ่อง (Hai Phong) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ นอกจากนั้นยังมีอู่ซ่อมกับอู่ต่อเรือขนาดเล็กอีกหลายแห่งรวมทั้งอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ที่เป็นการร่วมทุนกับบริษัทฮุนได และ บริษัทจากเดนมาร์กอีก 2 แห่ง
โรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศตั้งอยู่ในภาคกลาง ไกลออกไปจากแหล่งน้ำมันดิบที่อยู่ในภาคใต้ราว 1,000 กิโลเมตร เรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ จะมีบทบาทสำคัญมากในการขนส่งน้ำมันดิบป้อนโรงกลั่น
อย่างไรก็ตาม ยวุ๋งกว๊าตจะเป็นโรงกลั่นหนึ่งใน 4 หรือ 5 แห่งที่กำลังจะสร้างขึ้นตลอดหลายปีข้างหน้านี้ น้ำมันจำนวนมากจะต้องนำเข้าจากตะวันออกกลาง เจ้าหน้าที่เวียดนามกล่าวก่อนหน้านี้ว่า จะต้องมีเรือบรรทุกขนาดใหญ่เช่นนี้อีกหลายลำ
บริษัทน้ำมันแห่งชาติเวียดนามซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ 100% ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นกลุ่มบริษัท (Holding Company) เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้วเพื่อรองรับการขยายตัวและการออกลงทุนในต่างแดน
ปัจจุบันปิโตรเวียดนามเป็นเจ้าของกิจการสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ หลายสิบโครงการ รวมทั้งโครงการร่วมทุนกับบริษัทน้ำมันต่างประเทศด้วย นอกนั้นยังเป็นเจ้าของโรงกลั่นแห่งแรก และ เป็นเจ้าของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อีกด้วย
น้ำมันดิบเป็นสินค้าออกอันดับ 1 ของเวียดนาม ตามตัวเลขที่เป็นทางการนั้นเวียดนามผลิตน้ำมันดิบ 350,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งหมดส่งออกจำหน่ายป้อนโรงกลั่นในต่างแดน ทั้งในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
รัฐบาลได้ชะลอการผลิตน้ำมันและลดการส่งออกลงอย่างเป็นขั้นตอนในช่วง 2 ปีมานี้ เพื่อเอาไว้รองรับโรงกลั่นแห่งแรกของประเทศ
ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในเวียดนามได้รับความสนใจจากบริษัทน้ำมันต่างชาติอย่างมาก ทั้งบริษัทจากสหรัฐ ยุโรปและ เอเชีย ซึ่งรวมทั้ง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ก็ได้เข้าไปมีหุ้นส่วนในโครงการในเวียดนามด้วย
นอกจากมีน้ำมันดิบที่อาจจะขุดขึ้นมาใช้ตลอด 20-30 ปีข้างหน้าแล้ว ประมาณว่าในเวียดนามมีก๊าซธรรมชาติอยู่ราว 70 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนใหญ่อยู่ในแหล่งนอกชายฝั่งทางภาคใต้ แต่ก็เริ่มมีการพบน้ำมันและก๊าซในเขตทะเลภาคกลางและภาคเหนือแล้ว
ตามรายงานของเวียดนามนิวส์ (Vietnam News) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ นายกรัฐมนตรีคูเวต นัสเซอร์ อัล-โมฮัดเหม็ด อัล-อาหเหม็ด อัล-ซาบาห์ (Nasser Al-Mohammed Al-Ahmed Al-Sabah) กำลังจะไปเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค. นี้
สื่อในเวียดนามรายงานว่าความร่วมมือในอุตสาหกรรมพลังงาน น้ำมันและก๊าซ จะเป็นหัวข้อสำคัญในการพบหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสองประเทศ
ส่วนคณะเยือนจากโอมานซึ่งไปเยือนระหว่างวันที่ 16-20 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ลงนามในบันทึกช่วยความจำกับฝ่ายเวียดนามหลายฉบับ
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไทมส์ออฟโอมาน (Times of Oman) รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมโอมาน มักบูล บิน อาลี สุลต่าน (Maqbool bin Ali Sultan) ในฐานะตัวแทนของบริษัทน้ำมันโอมาน หรือ OOC (Oman Oil Company) ได้ลงนามกับบริษัทปิโตรเวียดนามเกี่ยวกับความร่วมมือด้านน้ำมันและก๊าซ
สองฝ่ายยังได้ตกลงความร่วมมือด้านการกลั่นน้ำมัน การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ และ การร่วมลงทุนระหว่างบริษัทน้ำมันของสองประเทศ
ฝ่ายโอมานยังได้แสดงความสนใจที่จะเข้าลงทุนอีกหลายแขนงในเวียดนาม รวมทั้งการเงิน การธนาคาร การผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อน รวมทั้งลงทุนก่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ต อีกด้วย.[/QUOTE]
เวียดนามถึงยุค "ท่าเรือ" บูม
ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3993 (3193)
ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของเวียดนาม ทำให้ "ท่าเรือ" ในเมืองโฮจิมินห์ซิตี มีการจราจรที่หนาแน่น และหากรัฐบาลเวียดนามไม่เร่งขยายท่าเรือให้เพียงพอต่อความต้องการ อาจกลายเป็นบ่วงที่ส่งผลต่อการเติบโตของเวียดนามในท้ายที่สุด
เว็บไซต์ตันห์เหนียนนิวส์ระบุว่า ในปีที่แล้ว การขนส่งทางเรือของเวียดนามโตขึ้นกว่า 17% ขณะที่การใช้ตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งเพิ่มขึ้น 30% เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยในปีที่แล้วจีดีพีขยายตัว 8.5% ซึ่งปัจจัยหลักที่ผลักดันมาจากการลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
"จอห์น คูนีย์" จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ซึ่งดูแลด้านสาธารณูปโภคในอาเซียนระบุว่า เศรษฐกิจที่เติบโตทำให้เกิดความต้องการด้านการขนส่งเพิ่มขึ้นมาก โดยการขยายตัวของจีดีพี 8-9% ทำให้ต้องการการขนส่งเพิ่มขึ้น 15-16%
ดังนั้นการจะพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพในการขนส่งเป็น 2 เท่าภายใน 4-5 ปีข้างหน้า
ประเมินว่า เวียดนามจะต้องใช้เงินลงทุนในการพัฒนาศักยภาพทˆาเรือราว 5 พันล้านดอลลาร์ไปจนถึงปี 2558
ด้าน "โอ คิม แลน" เลขานุการสมาคมท่าเรือแห่งเวียดนาม ระบุว่า หลังจากเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ทำให้ความต้องการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งแม้ทางการจะมีแผนพัฒนาท่าเรือ แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่ยังคงมีอยู่สูง
ปัจจุบัน เวียดนามมีท่าเรือ 266 แห่งใน 24 เมือง รองรับความต้องการได้ราว 80% ของการนำเข้าและส่งออกสินค้าทั้งหมด
แต่มีท่าเรือเพียง 9 แห่งเท่านั้นที่ได้รับการอัพเกรดให้สามารถรองรับน้ำหนักการขนส่งได้ถึง 50,000 DWT
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า อีกไม่นาน ท่าเรือในเวียดนามจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และส่งผลต่อนโยบายของเวียดนามที่จะเป็นฮับท่าเรือในเอเชียอีกด้วย เมื่อป กลายท่าเรือในประเทศอาเซียนรองรับการขนส่งเชิงพาณิชย์ถึง 181 ล้านตัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 250 ล้านตันภายในปี 2553 และทะยานถึง 550-600 ล้านตันภายในปี 2563
ดังนั้นเวียดนามตั้งเป้าที่จะพัฒนาพื้นที่รอบโฮจิมินห์ซิตี ในบริเวณที่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวอย่าง นาตรัง (Nha Trang) และไฮฟอง (Hai Phong) ซึ่งมีพื้นที่ริมฝั่งทะเลรวมระยะทาง 3,260 กิโลเมตร
โดยเฉพาะการสร้างท่าเรือน้ำลึก เพื่ออำนวยความสะดวกให้เรือเดินทะเลขนาดใหญ่ที่ขนส่งสินค้าจากฮ่องกงหรือสิงคโปร์มายังเวียดนาม รวมทั้งจะขยายศักยภาพของท่าเรือไซ่ง่อนเพิ่มขึ้น 4 เท่า
เพื่อรองรับความต้องการขนส่งที่เพิ่มขึ้น และช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนให้แก่ นักลงทุนต่างชาติที่มองเวียดนามในฐานะแหล่งผลิตต้นทุนต่ำด้วย
หน้า 11